‘จีน’ ลด ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ไม่ตามเป้า แม้เป็นผู้นำ ‘พลังงานสะอาด’ โลก

ในปี 2024 จีนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนได้ แม้จะจีนจะผลิตและใช้พลังงานสะอาดมากที่สุดในโลกแล้วก็ตาม
KEY
POINTS
- ปี 2024 จีนจะต้องลด “ความเข้มข้นคาร์บอน” ให้ได้ 3.9% แต่กลับทำได้จริงที่ 3.4% เท่านั้น
- ความต้องการไฟฟ้าของจีนเติบโต 6.8% และการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ยังคงเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก
- แม้ว่าจีนจะใช้พลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในโลก แต่ก็ยังเติบโตไม่ทัน
ในปี 2024 จีนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนได้ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทั่วโลกจะต้องช่วยกันป้องกันผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าปี 2024 จีนจะต้องลด “ความเข้มข้นคาร์บอน” (Carbon Intensity) ดัชนีการเกิดคาร์บอนต่อ GDP ลงให้ได้ 3.9% แต่กลับทำได้จริงที่ 3.4% เท่านั้น และยังต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวในการลดความเข้มข้นของคาร์บอนลง 18% ระหว่างปี 2020-2025 ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) กำหนดไว้ในแผน 5 ปีอีกด้วย
จีนกำลังถูกทั่วโลกจับตาในการดำเนินงานตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” และมลพิษมากที่สุดในโลก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 30% ของทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันจีนก็เป็นผู้นำในด้านการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนด้วยเช่นกัน
ดังนั้นหากกลุ่มประเทศที่ปล่อยมลพิษสูงสุดไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่สหประชาชาติกำหนดขึ้นเพื่อป้องกัน “หายนะ” ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ โอกาสที่โลกจะสามารถรักษาระดับอุณหภูมิให้ต่ำกว่าเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียสในระยะยาวอาจจะทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ปี 2024 กลายเป็นปีปฏิทินแรกในประวัติศาสตร์ที่อุณหภูมิเกินเกณฑ์
ถึงแม้ว่าความเข้มข้นของคาร์บอนจะเป็นหนึ่งในเกณฑ์มาตรฐานที่จีนใช้ แต่ก็สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับผลกระทบของการลดคาร์บอนต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้ หยาง มู่ยี่ นักวิเคราะห์พลังงานอาวุโสของ Ember กล่าว
“เศรษฐกิจจะยังคงเติบโตต่อไป แต่ดูเหมือนว่าการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกกลับไม่ได้เติบโตรวดเร็วเท่าที่หวังไว้” หยางกล่าวกับ Al Jazeera
จีนพึ่งพาการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก เพื่อพาประเทศหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ความต้องการพลังงานพุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ เพราะจากข้อมูลจากรัฐบาลจีนพบว่า เศรษฐกิจของจีนเติบโตขึ้น 5% ในปี 2024 แต่ความต้องการไฟฟ้ากลับเติบโต 6.8% และการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี
เฉพาะอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมของจีนเพียงอย่างเดียวก็ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบเท่ากับประเทศอินโดนีเซียทั้งประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมเคมี เหล็กกล้า โลหะ และแร่ธาตุของจีนรวมกันแล้วเกินกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของสหรัฐ
นอกจากนี้ “คลื่นความร้อน” ที่เกิดขึ้นอยากต่อเนื่องตลอดปี 2024 ยังทำให้น้ำในเขื่อนแห้ง จนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ ทำให้ทางการต้องใช้พลังงานถ่านหินทดแทน แต่ถึงจะใช้พลังงานหมุนเวียนได้ไม่ตามเป้า จีนยังคงเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด ตามข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า จีนสามารถผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 14.5% ของความต้องการพลังงานทั้งหมด และผลิตพลังงานน้ำได้อีก 13.4%
ขณะเดียวกัน จีนยังสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นประมาณ 75% ด้วยพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอยู่ที่ 500 เทระวัตต์ชั่วโมง จากทั้งหมด 610 เทระวัตต์ชั่วโมง เทียบเท่ากับการบริโภคพลังงานประจำปีของเยอรมนี
นอกจากนี้ จีนกำลังสร้างโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แบตเตอรี่ และพลังงานนิวเคลียร์ด้วยความเร็วที่สูงมาก โดยติดตั้งกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเกือบ 100 กิกะวัตต์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 มากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของโลกรวมกัน และมากกว่า 80% ของการผลิตโซลาร์เซลล์ทั่วโลกเกิดขึ้นในโรงงานของจีน
การเติบโตของภาคพลังงานหมุนเวียนโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของรัฐบาล และผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตาม “อุดมการณ์ของสี จิ้นผิง” ที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญจีน ระบุว่าจีนต้องมุ่งไปสู่ “อารยธรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดยในปี 2021 สีจิ้นผิงประกาศว่า “ควรล้มเลิกโครงการที่มีการใช้พลังงานสูงและปล่อยมลพิษสูงที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดอย่างเด็ดขาด”
ในปีเดียวกันนั้น จีนได้เปิดตัวโครงการซื้อขายการปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยบริษัทต่าง ๆ ที่ปล่อยมลพิษน้อยกว่าค่าที่กำหนดไว้สามารถขายค่าที่ไม่ได้ใช้ให้กับผู้ก่อมลพิษที่ปล่อยมลพิษเกินขีดจำกัดได้
เมื่อไม่นานนี้ สี จิ้นผิงเรียกร้องให้จีนมุ่งเน้นไปที่ “พลังการผลิตที่มีคุณภาพใหม่” และเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตระดับไฮเอนด์และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมมากขึ้น และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ให้คำมั่นว่าจะบรรลุจุดสูงสุดของการปล่อยมลพิษก่อนสิ้นทศวรรษนี้และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060
นอกจากนี้ ทางการจีนมีกำหนดประกาศรายละเอียดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 15 ซึ่งกำหนดไว้สำหรับปี 2026-2030 ในช่วงปลายปี 2025 ซึ่งน่าจะรวมถึงเป้าหมายการปล่อยมลพิษและพลังงานที่ปรับปรุงใหม่ด้วย
จนถึงทุกวันนี้ จีนปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้อย่างจริงจังในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ และบริจาคเงินทุนบางส่วนให้กับกลไกการจัดหาเงินทุนเพื่อสภาพอากาศโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนยังคงเป็นผู้นำในการปล่อยคาร์บอน และยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับยุโรปและสหรัฐที่ตัวเลขกำลังลดลง เพราะเลยจุดพีคมาแล้ว
แต่อย่างน้อยที่สุด จีนก็ยังคงมุ่งมั่นจะเป็นมิตรต่อโลก ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน ที่ถอนตัวจากความตกลงปารีส ยกเลิกนโยบายสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน ก็อาจทำให้จีนแซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นผู้นำด้านสภาพอากาศของโลกได้เช่นกัน
ที่มา: Aljazeera, CNA, Foreign Policy