ไคโตซาน ความปังที่มาจากเปลือกสัตว์อาหารทะเล
คนจำนวนมากอาจไม่รู้ว่า ไคโตซาน ซึ่งเป็นส่วนผสมของอาหารเสริมหลายชนิด เป็นผลผลิตมาจากเปลือกของสัตว์อาหารทะเลของมนุษย์ ทั้งเปลือกกุ้ง กระดองปู ที่เหลือทิ้งในครัวเรือนหรือเป็นของเหลือจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป
ของเหลือเหล่านี้เมื่อนำมาสกัดเอาไคโตซานสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้อีกหลายร้อยเท่า จึงควรที่จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มาจากชีวมวลแบบนี้ให้มากขึ้น ไปถึงขั้นพยายามให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก เพราะประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องส่งออกอาหารทะเลอยู่แล้ว ดีกว่าไปฝันลมๆ แล้งๆ กับการจะเป็นฮับโน่นนี่ที่ยากจะเป็นจริง
ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล มีสัตว์ทะเลหลายชนิดที่มีเปลือกและคราบที่ต้องกำจัดออกก่อนการแปรรูป หนึ่งในนั้นคือ กุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำ ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศสูงมาก โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีการส่งออกกุ้งปริมาณ 27,938.52 ตันคิดเป็นมูลค่าถึง 11,592.18 ล้านบาท จำนวนนี้อยู่ในรูปกุ้งปรุงแต่งมากที่สุด มีมูลค่าประมาณ 5,253.14 ล้านบาท
ในกระบวนการแปรรูปกุ้งนั้น จะต้องมีการแยกเนื้อกุ้งและเปลือกกุ้งออกจากกัน การศึกษาพบว่าปริมาณเปลือกกุ้งและหัวกุ้งเป็นถึง 45-48 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักกุ้ง ซึ่งเป็นของเหลือที่มีมูลค่าสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปเป็นไคโตซานได้
ในปี 2024 คาดว่าตลาดไคโตซานจะมีมูลค่าตลาดถึง 2.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นถึง 3.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2029
ไคโตซาน (Chitosan) เป็นวัสดุชีวภาพหรือไบโอพอลิเมอร์ (Biopolymer) ชนิดพอลิแซคคาไรด์ (Polysaccharides) เป็นสารที่มีคุณค่าทั้งทางโภชนาการและทางการแพทย์ เนื่องจากคุณสมบัติทางเคมีและชีวภาพของไคโตซานที่ดีมีอย่างหลากหลายจากโครงสร้างทางเคมี ทำให้ไคโตซานมีประจุบวกที่สูง จึงมีคุณสมบัติที่น่าสนใจ
เช่น ความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ความสามารถในการจับกับอนุภาคไขมัน ความสามารถในการจับธาตุโลหะหนักได้ เป็นต้น ทั้งไคโตซานยังเป็นสารที่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัยโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในการใช้เป็นอาหารสำหรับคนและสัตว์
เมื่อกระแสการดูแลสุขภาพและบริโภคอาหารที่มีประโยชน์มาแรง ไคโตซานจึงถูกใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริมเพื่อดักจับไขมันในทางเดินอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก และยังถูกใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับสัตว์และพืชได้อีกเช่นกัน
ผลิตภัณฑ์ไคโตซานในรูปของเหลว ใช้รดต้นไม้เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและป้องกันโรคพืช สำหรับปศุสัตว์ ใช้ผสมในอาหารวัวเพื่อช่วยเพิ่มอัตราการแลกเนื้อและป้องกันโรคในวัว และสำหรับสัตว์น้ำไคโตซานใช้ผสมในอาหารเม็ดสำหรับปลาและกุ้ง เพื่อช่วยป้องกันโรคจากแบคทีเรียและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้
คุณสมบัติอีกอย่างที่น่าสนใจ และถูกนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางในปัจจุบันคือ การใช้ไคโตซานเป็นสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากไคโตซานสามารถเข้าไปรบกวนกระบวนการทางชีวเคมีของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียก่อโรคตายได้
นอกจากคุณสมบัติที่น่าสนใจและการใช้งานแล้ว ไคโตซานยังสามารถใช้ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ได้อีกด้วย โดยเฉพาะการใช้ไคโตซานในรูปอนุภาคนาโน (Nanoparticles) ซึ่งนับเป็นผลิตภัณฑ์ไคโตซานที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก ในตลาดโลก
ปัจจุบันวัสดุนาโน (Nanomaterials) เป็นวัสดุที่มีมูลค่าสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายงานว่าขนาดของตลาดนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) จะมีมูลค่า 91.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 และ 332.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2032 เพราะแรงหนุนจากปัจจัยโรคระบาดและการใช้ประโยชน์จากวัสดุนาโนอย่างกว้างขวาง
อนุภาคนาโน คือ วัสดุนาโนที่มีขนาดเล็กกว่า 100 นาโนเมตรตามมาตรฐาน ISO ISO/TR 18401:2017 ซึ่งด้วยขนาดที่เล็กจิ๋วระดับนาโนเมตรนั้น จะทำให้อนุภาคนาโนสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์และสัตว์ได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้น อนุภาคนาโนไคโตซานจึงถูกใช้ประโยชน์เป็นตัวนำส่งยาและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ
หลังจากเกิดโรคระบาด Covid-19 การศึกษาเทคโนโลยีการนำส่งสารพันธุกรรมหรือยีน (Gene delivery) มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาวัสดุหรือตัวนำส่งที่ให้ประสิทธิภาพสูงในการกักเก็บและนำส่งยา สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และสารพันธุกรรมอย่างกว้างขวาง เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนและยาสำหรับคนและสัตว์
ตัวอย่างเช่น การใช้ไคโตซานในสงครามยูเครนและรัสเซีย มีรายงานการใช้ผ้าพันแผลที่ผ่านการเคลือบด้วยไคโตซานสำหรับช่วยระงับเลือดให้กับทหาร
ปัจจุบันมีการศึกษาในระดับคลินิก โดยใช้ไคโตซานรักษาโรคอ้วนและการใช้เป็นตัวนำส่งสารพันธุกรรมเพื่อรักษาโรคในคนและสัตว์อีกด้วย อย่างไรก็ตามแม้ไคโตซานจะได้รับการยอมรับว่าเป็นสารที่ปลอดภัยในทางอาหาร แต่การใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์นั้น ยังคงต้องเฝ้าติดตามต่อไปว่า จะได้รับการอนุมัติให้ใช้จริงได้เมื่อไร
ไคโตซาน แม้จะมีที่มาจากเปลือกหรือของเหลือในกระบวนการผลิตอาหาร แต่มีคุณสมบัติที่น่าสนใจและก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษยชาติอย่างมหาศาล สมควรจะได้รับการส่งเสริมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสนับสนุนให้เกิดการศึกษาในระดับนาโน ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มตามมาได้อีกมากมาย.