จิสด้าเผยโฉม ศูนย์ทดสอบดาวเทียม รองรับอุตฯพัฒนาดาวเทียม และ เศรษฐกิจอวกาศ

จิสด้าเผยโฉม ศูนย์ทดสอบดาวเทียม รองรับอุตฯพัฒนาดาวเทียม และ เศรษฐกิจอวกาศ

GISTDA เปิดบ้านโชว์ “ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (AIT)” มาตรฐานระดับสากล หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมพัฒนาดาวเทียม และ "เศรษฐกิจอวกาศ"

KEY

POINTS

  • GISTDA เปิดบ้านโชว์ “ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (AIT)” มาตรฐานระดับสากล หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
  • AIT รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก Surrey Satellite Technology Limited (SSTL) สหราชอาณาจักร ผลการทดสอบได้รับการยอมรับจากบริษัทให้บริการจรวดขนส่ง (Launch Agency)
  • ภายในอาคารจะมีห้องวิจัยและพัฒนาดาวเทียมระบบห้องสะอาดควบคุมอนุภาค (Clean room) และอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการพัฒนาต้นแบบดาวเทียม (Test Bench)

GISTDA เปิดบ้านโชว์ “ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (AIT)” หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ ตั้งอยู่ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ Space Inspirium อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้างประกอบและทดสอบดาวเทียม โดยเฉพาะดาวเทียมขนาดเล็กในประเทศไทย และสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียมของโลกในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ภายในอาคารจะมีห้องวิจัยและพัฒนาดาวเทียมระบบห้องสะอาดควบคุมอนุภาค (Clean room) และอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการพัฒนาต้นแบบดาวเทียม (Test Bench)

AIT โครงสร้างพื้นฐานอวกาศ

ที่ผ่านมา องค์กรที่ใช้บริการ AIT เช่น mu Space Corp บริษัทสัญชาติไทยที่เชี่ยวชาญในด้านการสร้างชิ้นส่วนอากาศยานและดาวเทียม เข้ารับบริการทดสอบการสั่นสะเทือนของระบบควบคุมการทรงตัวของดาวเทียม,

จิสด้าเผยโฉม ศูนย์ทดสอบดาวเทียม รองรับอุตฯพัฒนาดาวเทียม และ เศรษฐกิจอวกาศ

ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศส่งดาวเทียม Thai Universe – 1 หรือ TU-1 ทดสอบการสั่นสะเทือนและการทำงานของดาวเทียมในสภาวะร้อนและเย็น ซึ่งจะเป็นการจำลองสภาวะแวดล้อมที่ต้องเผชิญเมื่อถูกนำส่งขึ้นไปในอวกาศ เพื่อให้มั่นใจว่าดาวเทียมจะสามารถทำงานในอวกาศได้ตามที่ออกแบบไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน AIT ติดตั้งอุปกรณ์รองรับการทดสอบ 3 ด้าน คือ

1.ทดสอบการสั่นสะเทือนเพื่อประเมินความสามารถที่ทนต่อแรงการสั่นสะเทือนของจรวดนำส่ง และสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดความเสียหายระหว่างการนำส่ง

2. ทดสอบอุณหภูมิในสภาวะปกติ/สุญญากาศ เพราะสิ่งที่ดาวเทียมจะต้องเจอคือภาวะสุญญากาศและการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เย็นจัดและย้อนร้อนจัดในอวกาศแบบสุดขั้ว ห้องควบคุมอุณหภูมิสุญญากาศ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยจำลองสภาวะดังกล่าวได้

3.การทดสอบคุณสมบัติของมวล เพื่อดูจุดศูนย์ถ่วงหลังจากติดตั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ ในอนาคตจะเพิ่มระบบทดสอบสัญญาณรบกวนทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

จิสด้าเผยโฉม ศูนย์ทดสอบดาวเทียม รองรับอุตฯพัฒนาดาวเทียม และ เศรษฐกิจอวกาศ

ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการศูนย์ผลิตดาวเทียมแห่งชาติ GISTDA อธิบายว่า AIT รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก Surrey Satellite Technology Limited (SSTL) สหราชอาณาจักร

ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบจะถูกนำไปประเมินและเปรียบเทียบกับค่าผลการทดสอบที่ได้จากสหราชอาณาจักร เพื่อประเมินขีดความสามารถของเครื่องมือทดสอบที่ประเทศไทยมีว่าทัดเทียมกับผลการทดสอบในต่างประเทศหรือไม่

ผลการทดสอบได้รับการยืนยันจากทีมวิศวกร SSTL แล้วว่าเครื่องมือที่เราใช้ทดสอบระบบดาวเทียมนั้นได้ค่าผลลัพธ์อยู่ในระดับมาตรฐานเดียวกับบริษัท SSTL และเป็นไปตามมาตรฐาน ISO(EN) 9100 ซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูงในระดับที่สามารถนำไปยื่นขอการรับรองการขออนุญาตนำส่งดาวเทียมกับบริษัทให้บริการจรวดขนส่ง (Launch Agency) ได้

โดยเป็นหนึ่งในข้อกำหนดสำคัญก่อนที่ทาง Launch Agency จะอนุญาตให้นำดาวเทียมไปติดตั้งบนจรวดขนส่ง เพื่อนำส่งขึ้นสู่อวกาศได้

จิสด้าเผยโฉม ศูนย์ทดสอบดาวเทียม รองรับอุตฯพัฒนาดาวเทียม และ เศรษฐกิจอวกาศ

 

อนาคตดาวเทียมฝีมือไทย 

สำหรับ AIT สร้างขึ้นภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาหรือ THEOS-2 เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศ และรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียมของโลกในอนาคต ขณะเดียวกันภายใต้ THEOS-2 ยังระบุให้ผู้ผลิตถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทยด้วย 

GISTDA ส่งทีมวิศวกร 22 คน เข้ารับการเรียนรู้และฝึกอบรมด้วยการลงมือปฏิบัติงานจริง ร่วมกับทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างดาวเทียมจากบริษัท Surrey Satellite Technology Ltd (SSTL) เพื่อออกแบบ ประกอบและทดสอบดาวเทียม THEOS-2A เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี

โดยมีชิ้นส่วนจากผู้ประกอบการไทยร่วมด้วย จากนั้นถูกส่งกลับมาทำการทดสอบที่ AIT และมีกำหนดขึ้นสู่วงโคจร ส.ค.2567

จิสด้าเผยโฉม ศูนย์ทดสอบดาวเทียม รองรับอุตฯพัฒนาดาวเทียม และ เศรษฐกิจอวกาศ

ระบบดาวเทียม THEOS-2A ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่มีมาตรฐานระดับอินดัสเตรียลเกรดดวงแรกของประเทศไทย ถือเป็นการส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ 

ดาวเทียม THEOS-2A จะโคจรในระดับความสูง 520 กิโลเมตรจากพื้นโลก ตัวดาวเทียมมีน้ำหนัก 101.5 กิโลกรัม ความละเอียดภาพ 1.07 เมตร สามารถบันทึกภาพแบบวิดีโอสำหรับการติดตามพื้นที่ และการศึกษาข้อมูลเชิงลึกได้ มีอายุการใช้งานขั้นต่ำ 3 ปี เพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจสำคัญของประเทศ

ได้แก่ ด้านการจัดทำแผนที่ ด้านการจัดการเกษตร ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านการจัดการน้ำ ด้านการการจัดการชุมชนเมือง และด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งนี้ จุดเด่นของดาวเทียม THEOS-2A คือ มีระบบเรดาร์ สำหรับการติดตามเรือและเครื่องบินด้วย สำหรับดาวเทียม THEOS-2A มีกำหนดขึ้นสู่อวกาศในช่วงกลางปี 2567 ด้วยจรวดนำส่ง PSLV (พีเอสแอลวี) จากศูนย์อวกาศสาธิต ธาวัน เมืองศรีหริโคตา ประเทศอินเดีย

GISTDA สร้างความต่อเนื่องในการเตรียมสร้างดาวเทียม THEOS-3 เพื่อใช้งานในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้งานจริงของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศที่ใช้ชิ้นส่วนดาวเทียมจากผู้ประกอบการไทย และใช้วิศวกรไทยในการออกแบบ และพัฒนา 

ทั้งยังตั้งเป้าขยายเครือข่ายผู้ประกอบการไทยให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่กำลังเป็นที่น่าสนใจในขณะนี้

ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-3 จะเป็นดาวเทียม Micro satellite ขนาดประมาณ 120 กิโลกรัม วงโคจรแบบ Sun-synchronous ซึ่งมีแผนจะนำขึ้นสู่อวกาศภายในปี 2569-2570 มีต้นแบบการออกแบบมาจากดาวเทียม THEOS-2A จากการสร้างบุคลากรภายใต้โครงการ THEOS-2 ตั้งแต่ปี 2562.