สิ้นเดือน ก.ค. เดตไลน์ส่งประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย

สิ้นเดือน ก.ค. เดตไลน์ส่งประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย

เอ็นไอเอ ร่วม มูลนิธิข้าวไทยฯ หนุนภาคเอสเอ็มอี – อุตสาหกรรมการเกษตร ใช้นวัตกรรมอัปเกรดข้าวสู่โปรดักส์มูลค่าสูง พร้อมรุกกระตุ้นพืชเศรษฐกิจหลักของชาติ ด้วยการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย 2567 กำหนดเปิดรับผลงานจนถึงปลายเดือนกรกฎาคมนี้

KEY

POINTS

  • NIA ร่วมกับ มูลนิธิข้าวไทยฯ ร่วมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสำหรับเพิ่มมูลค่าข้าวไทย ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตผ่าน “การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2567” 
  • 15 ปีที่ผ่านมา NIA ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำนวัตกรรมจากข้าวกว่า 100 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนกว่า 50 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 392 ล้านบาท 
  • ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ข้าวแปลกใหม่ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มหลากหลายชนิด แป้งเด็ก เครื่องสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ หรือแม้กระทั่งคอนกรีตบล็อก ซึ่งล้วนมีคุณค่าที่น่าประทับใจ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสำหรับเพิ่มมูลค่าข้าวไทย ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตผ่าน “การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2567” เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติแก่นวัตกรผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมข้าวไทย และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่น

รางวัลนวัตกรรมข้าวไทยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ทั้งผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าว หรือกระบวนการผลิตข้าว ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 กรกฎาคม 2567 ผ่านทาง https://thairice.org/?p=13534

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ได้สร้างและกระตุ้นความสนใจในกลุ่มคนไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์ คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว และเกิดการผลิตในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

สิ้นเดือน ก.ค. เดตไลน์ส่งประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย

เนื่องจากรัฐบาลมองเห็นความสำคัญของการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลังจากที่ได้เริ่มจัดการประกวดไปได้ 4 ปี ทางมูลนิธิฯ มองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำของกลุ่มนวัตกรที่มาจากกลุ่มอุตสาหกรรม และที่มาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในแง่ของศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ข้าว

ดังนั้น ในปีที่ 5 จึงได้เริ่มสนับสนุนส่งเสริมให้มีนวัตกรจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งผลงานเข้าประกวดมากขึ้น โดยแยกการตัดสินรางวัลออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของกลุ่มที่มีศักยภาพต่างกัน

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA มุ่งมั่นเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ ภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” และนอกเหนือจากภารกิจในการสนับสนุนด้านเงินทุนแล้ว การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยสร้างความตระหนักด้านนวัตกรรม

NIA จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมข้าว เพื่อการผลิตและบริการเชิงพาณิชย์ และได้ดำเนินการจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยขึ้น มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันนับเป็นปีที่ 16 แล้ว 

สิ้นเดือน ก.ค. เดตไลน์ส่งประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย

ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา NIA ได้ดำเนินงานเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้าน “ข้าว” ของประเทศไทย ให้ก้าวสูงขึ้น โดยได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำนวัตกรรมจากข้าวไปแล้วกว่า 100 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนกว่า 50 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 392 ล้านบาท

แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการนำนวัตกรรมไทยไปใช้ประโยชน์ และจุดประกายให้คนไทยเกิดความตื่นตัวในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะนำพาประเทศไปสู่การเป็นชาตินวัตกรรม (Innovation Nation)

ดรุณี เอ็ดเวิร์ดส เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การจัดการประกวดนวัตกรรมข้าวไทย มีเป้าหมายเพื่อคัดเลือกนวัตกรรมจากผลิตภัณฑ์ข้าว รวมถึงกระบวนการผลิตที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทยให้สามารถพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ตลอดระยะเวลาของการประกวดฯ 15 ปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าร่วมส่งผลงานนวัตกรรมข้าวไทย ทั้งสิ้น 669 ผลงาน และมีผลงานที่ได้รับรางวัลไปแล้ว 77 ผลงาน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าความสนใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ข้าวของประเทศเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีผลิตภัณฑ์ข้าวแปลกใหม่ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มหลากหลายชนิด น้ำมันรำข้าว แป้งเบเกอรี่ แป้งเด็ก เครื่องสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ หรือแม้กระทั่งคอนกรีตบล็อก ซึ่งล้วนมีคุณค่าที่น่าประทับใจ และสมควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มากขึ้น

และในปีนี้เรายังคงรอรับชมนวัตกรรมจากผลิตภัณฑ์ที่จะร่วมส่งเข้าประกวดจากทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

สิ้นเดือน ก.ค. เดตไลน์ส่งประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย

ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท Cloud & Ground จำกัด เผยมุมมองของคนรุ่นใหม่กับข้าวไทยในปัจจุบันว่า “ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน Thailand Rice Fest เทศกาลกินข้าวใหม่และสินค้าข้าวสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับวงการข้าวไทย ผ่านประสบการณ์ “ชิมข้าว กินข้าว ซื้อข้าว ชมข้าว และทำกับข้าว”

สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยผ่านสินค้าสร้างสรรค์ รู้สึกเป็นเกียรติ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยพลังจากข้าวและวัตถุดิบท้องถิ่นไทย

จากการทำงานที่ผ่านมาทำให้ได้รู้จักกับ “ข้าวสรรพสี” (Rainbow Rice) ซึ่งเป็นข้าวที่ใบมีสีสันงดงามแตกต่างกันออกไป และได้เห็นโอกาสในการพัฒนาทุ่งนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงการใช้ประโยชน์จากใบข้าวมาผลิตเป็นโปรตีนทางเลือก และช่วยลดการเผาป่า แก้ปัญหาฝุ่นควันได้

ทำให้ได้รู้ว่าข้าวไทยมีประโยชน์มากกว่าการรับประทาน หากใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป ก็สามารถสร้างนวัตกรรมที่หลากหลายขึ้นมาได้ จึงขอเชิญชวนทุกท่านที่มีนวัตกรรมจากข้าวอยู่ในมือ ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้ เพื่อแสดงศักยภาพของข้าวไทยในมิติใหม่ ๆ ขึ้นมาได้.

ตัวอย่างนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลในกลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดังนี้
กลุ่มอุตสาหกรรม

ผลงาน : นวัตกรรมเนื้อเทียมแห้งจากพืชสะดวกปรุงสะดวกเก็บ (รางวัลชนะเลิศ รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย 2565)
เจ้าของผลงาน : รศ.ยุพกนิษฐ์ พ่วงวีระกุล, อ.สุวิมล สร้อยทองสุข และคณะ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยรังสิต

รายละเอียดผลงาน : ใช้วัตถุดิบจากข้าวไทย มากกว่าร้อยละ 50 เป็นการพัฒนาเนื้อเทียมแห้งด้วยรูปแบบ Textured Vegetable Protein (TVP) ให้อยู่ในรูปของผงแห้งด้วยกระบวนการเอ็กซ์ทรูชั่น (Extrusion) หรือกระบวนการอัดพองเป็นอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ปรุงรส เนื้อหมูและเนื้อไก่ ที่ไม่มีสารก่ออาการภูมิแพ้ และสามารถเก็บรักษาได้ 1 ปีที่อุณหภูมิปกติ

สิ้นเดือน ก.ค. เดตไลน์ส่งประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย

ผลงาน : เนยขาวน้ำมันรำข้าว “คิง” (รางวัลชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย 2553)
เจ้าของผลงาน : นายประวิทย์ สันติวัฒนา บริษัท น้ำมันบริโภค จำกัด

รายละเอียดผลงาน : ผลิตจากน้ำมันรำข้าว 100% เป็นการใช้กระบวนการผลิตทางกายภาพ คือ การนำน้ำมันรำข้าวมาผ่านกระบวนการให้ความร้อน และตกผลึกภายใต้อุณหภูมิต่ำ แล้วผ่านกระบวนการกรองและบีบอัดไข

แล้วจึงนำไขที่ได้มาให้ความร้อนและตกผลึกซ้ำเป็น “เนยขาวน้ำมันรำข้าว” ที่ปราศจากไขมันทรานส์ และกรดไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 40% ให้คุณค่าวิตามินและสารอาหารที่สำคัญอย่างโอรีซานอล (Oryzanol) ไฟโตสเตอรอล (Phytosterol) และวิตามินอี (Vitamin E) เช่นเดียวกับที่มีในน้ำมันรำข้าว

สิ้นเดือน ก.ค. เดตไลน์ส่งประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย

ผลงาน : แป้งข้าวเจ้าโปรตีนต่ำดัดแปลงทางเคมีและฟิสิกส์ให้มีคุณสมบัติเป็นแป้งไฮโดรโฟบิค (รางวัลชนะเลิศ รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย 2558)
เจ้าของผลงาน : ดร.วราทัศน์ วงศ์สุรไกร บริษัท เนอเชอร์แคร์ จำกัด

รายละเอียดผลงาน : เป็นผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นสำหรับเด็ก จากแป้งข้าวเจ้า (Rice starch) เป็นการนำแป้งข้าวบริสุทธิ์มาดัดแปลงโมเลกุลร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการฆ่าเชื่อด้วยวิธี Sterilization ในภาวะที่ไม่มีความชื้นให้เป็นแป้งข้าวเจ้าดัดแปลงที่มีความละเอียดสูง

คุณสมบัติ คือดูดซับความมันได้สูงกว่าแป้งทัลคัมถึง 3 เท่า และมีขนาดอนุภาคเฉลี่ย 6 ไมครอน ทำให้ทาผิวได้เรียบเนียนและเกาะกับผิวหนังได้ดี

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
ผลงาน : เซรั่มบำรุงผิวจากสารสกัดข้าว (รองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย 2560)
เจ้าของผลงาน : นางสาวภฤชฎา ศรีเหนี่ยง วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากทรัพยากรชีวภาพในชุมชน

รายละเอียดผลงาน : เป็นเซรั่มบำรุงผิวจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ใช้กระบวนการหมักด้วยเชื้อราในกลุ่มของ Aspergillus เป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถสูงในการสร้างเอนไซม์ออกมาย่อยผนังเซลล์และโปรตีนของพืช โดยไม่สร้างสารพิษ ทำให้ได้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในกลุ่มของสารประกอบฟีนอลจากข้าวในปริมาณเพิ่มขึ้นจากการสกัดสารแบบทั่วไป แล้วทำสารสกัดที่ได้มาพัฒนาสูตรพื้นฐานตำรับเซรั่ม

สิ้นเดือน ก.ค. เดตไลน์ส่งประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย

ผลงาน : ครีมผงข้าวหอมมะลิ (รางวัลชมเชยรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย 2565)
เจ้าของผลงาน : นางกอบแก้ว ระวิเรือง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเหม้า

รายละเอียดผลงาน : เป็นการผลิตครีมผงข้าวหอมมะลิ โดยนำข้าวหอมมะลิมาทดแทนไขมัน โดยใช้เครื่องอบแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dryer) เป็นผลิตภัณฑ์ครีมผงข้าวหอมมะลิ ที่ประกอบไปด้วย จมูกข้าว มากถึง 70% และน้ำมันรำข้าว 17%