มหิดล คิดค้น ‘สเปรย์ฟิล์มบาง’ นวัตกรรมลดอุณหภูมิ รับมือภาวะโลกร้อน

มหิดล คิดค้น ‘สเปรย์ฟิล์มบาง’ นวัตกรรมลดอุณหภูมิ รับมือภาวะโลกร้อน

นวัตกรรมรับมือภาวะโลกร้อน “สเปรย์ฟิล์มบาง” ดึงความร้อนจากในอาคารสู่นอกอาคารโดยไม่ใช้พลังงานใดๆ ช่วยลดอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 0.25-2.20 องศาเซลเซียส ต้นทุน 20-50 บาทต่อตารางเมตร ทนทาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้ได้กับพื้นผิวหลากหลาย 

KEY

POINTS

  • “สเปรย์ฟิล์มบาง” นวัตกรรมรับมือภาวะโลกร้อน ด้วยความสามารถในการดึงความร้อนจากในอาคารสู่นอกอาคารโดยไม่ใช้พลังงานใดๆ (passive cooling) 
  • สปินออฟจากแล็บวัสดุศาสตร์ ม.มหิดล สู่เชิงพาณิชย์ผ่านสตาร์ตอัปวัสดุก่อสร้างลดร้อนชื่อ “Passi-Cool” 
  • นวัตกรรมขั้นสูงในราคาที่คนไทยเข้าถึงได้ ด้วยต้นทุนการผลิตต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีในตลาดถึง 10 เท่า

“สเปรย์ฟิล์มบาง” นวัตกรรมรับมือภาวะโลกร้อน ด้วยความสามารถในการดึงความร้อนจากในอาคารสู่นอกอาคารโดยไม่ใช้พลังงานใดๆ (passive cooling) ช่วยลดอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 0.25-2.20 องศาเซลเซียส มีต้นทุนเพียง 20-50 บาทต่อตารางเมตร ทนทานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถใช้ได้กับพื้นผิวหลากหลาย 

งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก และสปินออฟจากแล็บสู่เชิงพาณิชย์ผ่านสตาร์ตอัป “Passi-Cool” ตั้งเป้ารับมือกับอุณหภูมิเฉลี่ยของไทยที่เพิ่มขึ้น 0.2 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ สอดคล้องกับวิกฤติโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก

มหิดล คิดค้น ‘สเปรย์ฟิล์มบาง’ นวัตกรรมลดอุณหภูมิ รับมือภาวะโลกร้อน

มหิดล คิดค้น ‘สเปรย์ฟิล์มบาง’ นวัตกรรมลดอุณหภูมิ รับมือภาวะโลกร้อน

สเปรย์ฟิล์มบางลดอุณหภูมิ

รศ.ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์สาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “สเปรย์ฟิล์มบาง” ผลิตจากสารประกอบที่มีส่วนผสมหลักเป็นสารที่ชื่อว่า PDMS หรือ โพลีไดเมทิลไซลอกเซน (Polydimethylsiloxane) เป็นสารในกลุ่มซิลิโคน นิยมใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น แม่พิมพ์ ซิลิโคน ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง และนำมาใช้เป็นสารเคลือบลดความร้อนด้วยเช่นกัน

หลักการของฟิล์มพาสซี-คลูจะใช้การระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสี สามารถปล่อยรังสีความร้อนในช่วงความยาวคลื่น 8-13 ไมโครเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่รังสีความร้อนอินฟราเรดสามารถผ่านชั้นบรรยากาศออกสู่อวกาศ

ฟิล์มสเปรย์สามารถเคลือบได้บนพื้นผิวที่หลากหลาย ทั้งกระจก แผ่นโลหะ แก้ว ปูน และกระเบื้องหลังคา แตกต่างจากสินค้าในตลาดที่อยู่ในรูปแบบสติกเกอร์ในการเคลือบ ซึ่งเหมาะสำหรับวัสดุผิวเรียบเท่านั้น

ทีมวิจัยได้ทำการทดลองเคลือบลงบนวัสดุก่อสร้างต่างๆ อาทิ กระจก แผ่นโลหะสำหรับหลังคา (metal sheet) ปูนคอนกรีตและกระเบื้องหลังคา พบว่าสามารถลดความร้อนโดยเฉลี่ย 0.25-2.20 และในสภาวะที่เหมาะสมอาจลดได้สูงสุดถึง 3.94 องศาเซลเซียส

“หนึ่งในจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การสร้างนวัตกรรมขั้นสูงในราคาที่คนไทยเข้าถึงได้ เนื่องจากเทคโนโลยีการลดความร้อนให้กับพื้นผิวที่พัฒนาในต่างประเทศนั้นมีราคาสูงถึง 200-500 บาทต่อตารางเมตร ทำให้ผู้บริโภคในไทยเข้าถึงยาก หากแต่สเปรย์ฟิล์มบางมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ในตลาดถึง 10 เท่า” รศ.ดร.พงศกร กล่าว

ผลงานวิจัย “Radiative cooling film enabled by droplet-like infrared hot spots via low-cost and scalable spray-coating process for tropical regions” ได้ยื่นจดสิทธิบัตรผ่านมหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับตีพิมพ์ระดับ Top3% ของสาขา Engineering (miscellaneous) ซึ่งนิตยสารมีค่า Impact Factor สูงถึง 8.9 เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2567

สตาร์ตอัปกู้โลกร้อน

ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มระดับความพร้อมของเทคโนโลยี โดยร่วมกับภาคธุรกิจในการนำผลงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์ระดับอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าของคนไทย พร้อมทั้งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสตาร์ตอัป “Passi-Cool” ผ่านทางสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ของมหาวิทยาลัยมหิดล

“เรากำลังพัฒนาให้สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ ซึ่งจะช่วยให้เราควบคุมคุณภาพและปรับแต่งการฉีดพ่นได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในการควบคุมความร้อน ระยะห่างและความดันในการฉีดพ่น เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด” รศ.ดร.พงศกร กล่าว

ส่วนการผลิตเป็นสเปรย์สำเร็จรูปสำหรับใช้โดยบุคคลทั่วไปนั้น ยังไม่สามารถทำได้ เพราะผู้ใช้จะต้องมีองค์ความรู้และกำหนดปัจจัยการพ่นอย่างละเอียด เพื่อให้ยึดเกาะพื้นผิวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องมีเทคโนโลยีสำหรับตรวจสอบการพ่นสเปรย์อีกด้วย

อย่างไรก็ดี นวัตกรรมนี้ไม่ใช่เพียงความหวังสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพในการแก้ปัญหาระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนที่กำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มหิดล คิดค้น ‘สเปรย์ฟิล์มบาง’ นวัตกรรมลดอุณหภูมิ รับมือภาวะโลกร้อน

ทางออกที่ยั่งยืน

ข้ามฟากไปต่างประเทศ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ พัฒนาวัสดุเคลือบหลังคาที่สะท้อนรังสีอินฟราเรดกลับสู่อวกาศ สามารถลดอุณหภูมิภายในอาคารได้ถึง 5 องศาเซลเซียส ขณะที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้พัฒนาสีขาวที่สะท้อนแสงได้มากถึง 98.1% ช่วยลดอุณหภูมิพื้นผิวได้ถึง 10 องศาเซลเซียสในเวลากลางวัน

แม้ว่านวัตกรรมเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพสูง แต่สเปรย์ฟิล์มบางของทีมวิจัยไทยมีข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนที่ต่ำกว่าและความสะดวกในการใช้งาน อาจทำให้เทคโนโลยีนี้เข้าถึงผู้ใช้ได้ในวงกว้างมากขึ้น

หากการพัฒนานวัตกรรมนี้ประสบความสำเร็จ ไม่เพียงแต่จะช่วยลดอุณหภูมิในอาคารและบ้านเรือน แต่ยังช่วยประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าได้อีกด้วย

นับเป็นก้าวสำคัญของนักวิจัยไทยในการสร้างเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาระดับโลก และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราจัดการกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศในอนาคต