รู้เรื่องเมืองอัจฉริยะ บทเรียนจากสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดจิ๋วบนแผนที่โลก แต่มีความเก่งระดับต้นๆ ของโลก ปี 2567 ได้รับการจัดอันดับเรื่องความเป็นเมืองอัจฉริยะอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 5 จาก 142 ประเทศ โดย International Institute for Management Development อะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้

KEY

POINTS

  • เบื้องหลังความสำเร็จในความเป็นเมืองอัจฉริยะของประเทศสิงคโปร์ อันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 5 จาก 142 ประเทศจากการจัดอันดับโดย International Institute for Management Development 
  • การสร้างเมืองอัจฉริยะจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีส่วนร่วม โดยเป้าหมายท้ายสุดคือสร้างความสุขให้แก่ประชาชนในประเทศ
  • การเรียนรู้จากการเป็นเมืองอัจฉริยะของสิงคโปร์ จะทำให้สามารถนำไปประยุกต์เป็นแนวทางพัฒนาเมืองได้อย่างรวดเร็ว
  • สรุป key points จากกองบรรณาธิการ

ประเทศสิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศเอกราชที่เกิดขึ้นด้วยความต้องการของคนในชาติ แต่ถูกขับออกจากประเทศมาเลเซียในปี 2508 เกาะเล็กๆ แห่งนี้ขาดแคลนทรัพยากรแม้กระทั่งน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคก็ไม่เพียงพอ

แต่การขาดแคลนดังกล่าวกลับทำให้คนสิงคโปร์ตระหนักว่าทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยให้อยู่รอดก็คือ คนที่มีคุณภาพนั่นเอง ความเป็นเมืองอัจฉริยะมาจากคุณภาพของคนเป็นเบื้องต้น

รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตอกย้ำหลักพื้นฐานของความเป็นเมืองหรือประเทศอัจฉริยะว่าประกอบด้วย 3 เรื่องคือ

1.สังคมดิจิทัล (Digital society) หมายถึงสังคมที่ทุกคนซึ่งมีความแตกต่างได้เชื่อมโยงกันและรับโอกาสที่ดีขึ้นด้วยการสนับสนุนจากเทคโนโลยี โดยจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนสิงคโปร์สามารถเข้าถึง มีความรู้ ยอมรับและมีส่วนร่วมในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล โดยประชาชนได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐในการเข้าอบรมพัฒนาตนเอง

2.เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม

เช่น การรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่าบิ๊กดาต้าและวิเคราะห์หาพฤติกรรมลูกค้า สร้างนวัตกรรมตอบสนองความต้องการให้ตรงจุดมากขึ้น ตลอดจนปรับเปลี่ยนการจัดสรรทรัพยากรของภาคธุรกิจอย่างรวดเร็ว และทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น

เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแสดงความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วไปเทศ เพื่อให้ธุรกิจที่ทำการผลิตไฟฟ้าสามารถจัดการการผลิตในปริมาณที่เหมาะสมและวางแผนขายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.รัฐบาลดิจิทัล เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างความสามารถของภาครัฐในการให้บริการประชาชน ผ่านการกำหนดนโยบายและออกแบบการให้บริการที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง

มีการใช้แอปพลิเคชันในการให้บริการประชาชน เช่น การแจ้งเบาะแสการหลอกลวงทางโทรศัพท์มือถือ การเก็บข้อมูลเพื่อนำไปคำนวณภาษี ฯลฯ

รู้เรื่องเมืองอัจฉริยะ บทเรียนจากสิงคโปร์

  ทั้งนี้ การสร้างเมืองอัจฉริยะจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีส่วนร่วม โดยเป้าหมายท้ายสุดคือสร้างความสุขให้แก่ประชาชนในประเทศ

การเป็นเมืองอัจฉริยะไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย สิงคโปร์มีการเตรียมคนให้พร้อมเพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง ให้ทุกคนมีส่วนร่วมและอาศัยด้วยกันอย่างไม่แปลกแยก 

 นอกจากการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสูงให้กับประชาชนแล้ว รัฐบาลยังให้การอุดหนุนทางการเงินแก่ผู้ที่ทำงานแล้วให้ได้เพิ่มและปรับทักษะความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับรูปแบบงานที่เปลี่ยนไป

หรือคนที่เกษียณออกจากงานไปแล้วให้สามารถทำงานและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศต่อไป ช่วยลดความรู้สึกด้อยค่าเป็นภาระต่อสังคม

โดยให้การอุดหนุนการเรียนตามโครงการ Skillsfuture Singapore (SSG) ที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลตั้งแต่ 50-95% ของค่าธรรมเนียมการเรียน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นหลักสูตรที่รัฐจัดให้ หรือหลักสูตรที่รัฐให้การรับรอง

ในด้านโครงสร้างของเมือง รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพแวดล้อมมาก มีการจัดให้มีโครงการสร้างแหล่งเก็บน้ำในอพาร์ตเมนต์เพื่อนำมาใช้อุปโภค นำมารดต้นไม้ตามโครงการสร้างพื้นที่สีเขียวให้สิงคโปร์เป็นเมืองในสวน ลดการซื้อน้ำใช้ การปลูกต้นไม้

มีการนำระบบ District cooling system ซึ่งเป็นการจัดการความร้อนที่เกิดจากความเป็นป่าคอนกรีต โดยการนำน้ำเย็นจากส่วนกลางไปลดความร้อนในระบบเครื่องปรับอากาศในพื้นที่ร่วมโครงการ

ในด้านการขนส่ง รัฐบาลสิงคโปร์เน้นการสร้างเครือข่ายระบบการขนส่งสาธารณะ เช่น รถประจำทาง และรถไฟฟ้า ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีการเชื่อมต่ออย่างสะดวกและครอบคลุม คนสิงคโปร์จึงไม่รู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องมีรถส่วนตัวใช้

เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์จากการใช้ระบบสันดาป และบรรลุเป้าหมายการขจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยสิ้นเชิง หรือ Net zero รัฐบาลสิงคโปร์มีการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างรอบด้านแต่ระมัดระวัง

รู้เรื่องเมืองอัจฉริยะ บทเรียนจากสิงคโปร์

ทั้งการให้แรงจูงใจด้านมาตรการภาษี การวางกฎเกณฑ์และมาตรฐาน การจัดหาหัวจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า การอบรมและเตรียมทรัพยากรให้พร้อมต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ตระหนักถึงความไม่พร้อมที่จะส่งเสริมให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะคนส่วนใหญ่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ซึ่งมีพื้นที่จอดรถจำกัด การแก้ปัญหาการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าให้เพียงพอ หรือปัญหาความต้องการไฟฟ้าในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในเรื่องการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าให้เพียงพอ

นอกจากนี้หากมีอุบัติเหตุจากการระเบิดของแบตเตอรี่ การควบคุมเพลิงไหม้อาจไม่ง่ายนัก รวมทั้งการจัดการขยะแบตเตอรี่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ปัจจุบันสิงคโปร์จึงเน้นการส่งเสริมให้นำระบบไฟฟ้ามาใช้ในรถประจำทางมากกว่าการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

การเรียนรู้จากการเป็นเมืองอัจฉริยะของสิงคโปร์ จะทำให้สามารถนำไปประยุกต์เป็นแนวทางพัฒนาเมืองได้อย่างรวดเร็ว และทราบถึงปัญหาที่ควรตระหนัก นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป.

รู้เรื่องเมืองอัจฉริยะ บทเรียนจากสิงคโปร์