‘สิงคโปร์’ มี ‘หนู’ เพิ่มขึ้น จับกี่ทีก็ยังไม่หมด รัฐใช้ ‘AI’ แก้ปัญหา

‘สิงคโปร์’ มี ‘หนู’ เพิ่มขึ้น จับกี่ทีก็ยังไม่หมด รัฐใช้ ‘AI’ แก้ปัญหา

“หนู” ใน “สิงคโปร์” เพิ่มขึ้น 15-20% เพราะโลกร้อนกระตุ้นให้อยากอาหารและผสมพันธุ์มากขึ้น ภาครัฐนำเทคโนโลยีและ AI เร่งแก้ปัญหา

KEY

POINTS

  • ในปี 2023 มีหนูเพิ่มขึ้น 15-25% โดยในปีที่แล้วพบรังหนูในพื้นที่สาธารณะทั้งสิ้น 5,203 รัง ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ยุคโควิด-19 เป็นต้นมา
  • การแพร่กระจายของหนูที่เพิ่มขึ้นอาจเนื่องมาจากมีกองขยะอาหารถูกทิ้งไว้ในพื้นที่สาธารณะที่สูงขึ้น รวมถึงการเข้าสู่ฤดูมรสุมที่ทำให้เกิดฝนตกมากกว่าปรกติ อากาศร้อนยังทำให้หนูผสมพันธุ์ใหญ่ขึ้น
  • ภาครัฐเครื่องมือเทคโนโลยีและเอไอเข้ามาช่วยกำจัดหนู รวมถึงตรวจสอบกิจกรรมอาจจะนำพาให้หนูมาอยู่อาศัย พร้อมยกระดับการบังคับใช้กฎและการจัดการขยะในร้านอาหาร

หนู” กลายเป็นปัญหาใหญ่ในเมืองใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะใน “สิงคโปร์” ที่พบเห็นหนูได้ตามพื้นที่สาธารณะได้บ่อยขึ้น โดยข้อมูลจาก PestBusters บริษัทให้บริการกำจัดแมลงและสัตว์รบกวนระบุว่าในปี 2023 มีหนูเพิ่มขึ้น 15-25% โดยในปีที่แล้วพบรังหนูในพื้นที่สาธารณะทั้งสิ้น 5,203 รัง ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ยุคโควิด-19 เป็นต้นมา

โคลอี ชี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายประกันคุณภาพของ PestBusters กล่าวว่า การแพร่กระจายของหนูที่เพิ่มขึ้นอาจเนื่องมาจากมีกองขยะอาหารถูกทิ้งไว้ในพื้นที่สาธารณะที่สูงขึ้น รวมถึงการเข้าสู่ฤดูมรสุมที่ทำให้เกิดฝนตกมากกว่าปรกติ

“ฝนตกหนักจะทำให้น้ำท่วมรังหนูซึ่งมักอยู่ในพื้นที่ราบต่ำ ส่งผลให้หนูต้องออกจากโพรงเพื่อหาอาหารและหาบ้านใหม่” เธอกล่าว

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนูเข้ามาอยู่ในเมืองนั้นมาจาก การคืนถาดอาหารและทิ้งเศษขยะตามศูนย์อาหารต่าง ๆ ทำให้มีเศษอาหารสะสมมากขึ้น มีขยะเกลื่อนกลาดรอบ ๆ จุดคืนถาดโดยไม่ได้ตั้งใจ หากบริเวณดังกล่าวไม่ได้ถูกทำความสะอาดบ่อยและทั่วถึง จะส่งผลให้หนูสามารถเข้าถึงอาหารได้มากขึ้น

“แม้ว่าพนักงานทำความสะอาดจะต้องเช็ดโต๊ะและล้างจานบ่อย ๆ แต่ก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดพื้นและพื้นที่รอบ ๆ จุดคืนถาดเท่าที่ควร” ตัน เอิร์น เซอร์ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าว

นอกจากนี้ “ภาวะโลกร้อน” ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนูในสิงคโปร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ฮาดี ฮานาฟี ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของ Innovative Pest Management บริษัทบริการด้านการกำจัดแมลงและสัตว์พาหะนำโรค กล่าวว่าด้วยสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้นในสิงคโปร์ จะทำให้ระบบการเผาผลาญของหนูก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พวกมันต้องการอาหารมากขึ้น ทำให้ออกมาหาอาหารบ่อย และผู้คนพบเห็นได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน หนูจะมีความต้องการทางเพศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่อากาศร้อน มันจึงผสมพันธุ์บ่อยขึ้น แตกต่างจากอากาศหนาว ที่หนูมักจะจำศีลและไม่ค่อยเคลื่อนไหวมากนัก นั่นหมายความว่าโลกยิ่งร้อน หนูก็จะยิ่งมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย

หนูที่พบมากที่สุดในสิงคโปร์มีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ 1.หนูนอร์เวย์ หรือ หนูท่อ (Rattus norvegicus) สามารถโตจนมีเท่าลูกแมว สามารถว่ายน้ำได้และมักจะหาอาหารอยู่ที่ประจำที่ 2.หนูท้องขาว (Rattus rattus) ชอบอยู่อาศัยในที่สูง ชอบหลบอยู่ตามเพดาน สามารถปีนป่ายได้อย่างคล่องแคล่ว อยู่รวมกันเป็นฝูง ออกหากินเวลากลางคืน 

3.หนูหริ่งบ้าน (Mus musculus) แม้จะมีขนาดที่เล็ก แต่สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถให้กำเนิดลูกได้ครั้งละ 20 ตัว ตามทฤษฎีแล้ว จำนวนพวกมันสามารถขยายจาก 2 ตัวเป็น 2 ล้านตัวภายใน 24 เดือน หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากผู้ล่าและการแทรกแซงของมนุษย์

สิงคโปร์รับมือหนูบุกเมือง

เพื่อรับมือกับปัญหาหนูบุกเมือง ในเดือนนเมษายน 2024 สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ NEA ได้เริ่มทดลองใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เอไอ กล้องวิดีโอ กล้องไวไฟตามเสาไฟฟ้า กล้องอินฟราเรด และกับดักอัจฉริยะเพื่อตรวจจับหนูตามสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงตรวจสอบกิจกรรมอาจจะนำพาให้หนูมาอยู่อาศัย เช่น การดูแลทำความสะอาดที่ไม่ดี การทิ้งขยะ และการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม โดยจะทดลองใช้แผนการนี้เป็นเวลา 4 เดือน

ขณะที่บริษัทกำจัดสัตว์รบกวนจะใช้วิธีการที่แตกต่างกันออกไป เช่น ติดกล้องบนเพดานเพื่อตรวจจับหนูหลังคา และวางยาหนูในโพรง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้การถ่ายภาพความร้อนเพื่อติดตามจำนวนประชากรหนู ฮ่องกงเองก็ได้นำเทคโนโลยีการถ่ายภาพความร้อนและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ตรวจสอบจำนวนประชากรสัตว์ฟันแทะในเมืองได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีทั้ง 2 อย่างนี้จะทำงานคนละหน้าที่ โดยการถ่ายภาพความร้อนจะติดตามสัตว์ในพื้นที่ ในขณะที่เอไอจะตรวจสอบว่าความร้อนนั้นคือหนูหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการกำจัดหนู หรือไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญจับหนูจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคต่าง ๆ ได้ โดยดร.พอล แทมเบียห์ ประธานสมาคมโรคติดเชื้อระหว่างประเทศ ระบุว่า หนูเป็นพาหะนำโรค เช่น ไข้รากสาดใหญ่จากหนู โรคฉี่หนู และโรคติดเชื้อไวรัสฮานตา ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่มนุษย์ได้ด้วยการสัมผัส แม้โรคเหล่านี้จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่จำนวนผู้ติดโรคเหล่านี้ในสิงคโปร์มากขึ้น

ถึงจะรู้ว่าหนูสกปรกและเป็นพาหะนำโรค แต่ประชาชนทั่วไปไม่อยากจะเสียเงินจ้างบริษัทกำจัดสัตว์มากนัก เพราะค่าบริการที่แพง ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่ 300-30,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันเท่าไหร่นัก

ขณะที่บางคนก็เขาใจว่าถ้าเคยจ้างมาแล้วครั้งหนึ่ง ก็เข้าใจว่าหนูจะไม่กลับมาอีก ทั้งที่ความจริงแล้วหนูมีโอกาสกลับมาทำรังที่บ้านได้อีก หากจัดการกับขยะไม่ดี ปล่อยให้บ้านรกรุงรัง

นอกจากการจะใช้เทคโนโลยีช่วยกำจัดหนูแล้ว ในปีนี้ NEA จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาหนูตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการยกระดับการบังคับใช้กฎและการจัดการขยะในร้านอาหาร ศูนย์อาหาร ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในจุดคืนภาชนะและทิ้งขยะ


ที่มา: CNAThe Straits TimesToday Online