‘ญี่ปุ่น’ เสนอการุณยฆาต ‘กวางนารา’ แก้ปัญหาอดอยาก-บุกรุกฟาร์มชาวบ้าน
เจ้าหน้าที่เสนอให้จำกัดจำนวน “กวางนารา” สัตว์ประจำเมือง “นารา” ของ “ญี่ปุ่น” ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว หลังจากมีรายงานว่ากวางกำลังบุกรุกไร่นาของเกษตรกร ขณะที่บางส่วนขาดอาหารจนตายอยู่ในศูนย์อนุรักษ์
“ญี่ปุ่น” เสนอให้กำจัดกวางศักดิ์สิทธิ์หลายสิบตัวที่กระจายอยู่ทั่วเมืองนารา เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวไร่ชาวนา นอกจากนี้มีรายงานว่ากวางบางที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดูแลกวางไม่ได้รับการดูแลและใกล้จะอดอยากเต็มที
“กวางนารา” บุกรุกพื้นที่การเกษตร
“กวางนารา” เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำเมืองนารา ซึ่งมีมากกว่า 1,400 ตัว อาศัยอยู่ในสวนสาธารณะนารา และกลายเป็นสัตว์ที่ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมือง รวมกันเป็นโบราณสถานแห่งนารา มรดกโลกขององค์กรยูเนสโก มาตั้งแต่ปี 1998 เช่น สวนสาธารณะเมืองนารา วัดโทไดจิ ที่ตั้งของพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ตามตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาระบุว่า ได้มี 1 ใน 4 เทพแห่งศาลเจ้าคาชิมะมาเสด็จมาเยือนเมืองนารา โดยมีกวางขาวผู้สง่างามเป็นพาหนะ และเปรียบเสมือนผู้รับใช้และผู้ส่งสาส์นถึงเทพเจ้า ซึ่งภายหลังกวางตัวนั้นได้ออกลูกออกหลานอยู่ในเมืองนาราเป็นจำนวนมาก ทำให้กวางนารากลายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเคารพนับถือ
ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารซื้อขนมเซ็มเบ้ ข้าวเกรียบปรุงรส มาเลี้ยงกวางได้ โดยรายได้ทั้งหมดจะนำไปเลี้ยงดูกวาง แม้จะไม่มีรายงานว่ากวางนาราบุกเข้าทำร้ายนักท่องเที่ยว (อย่างมากก็แค่รุมกินขนมในมือนักท่องเที่ยว) แต่ด้วยจำนวนกวางที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้พวกมันออกจากสวน เพื่อหาอาหารกิน จนหลายครั้งเข้าไปทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง
สึโตมุ ฮาราดะ ไกด์นำเที่ยวที่เคยไปเยือนนาราหลายครั้งกล่าวว่า “นักท่องเที่ยวชอบที่จะเห็นกวางน่ารักและอยากจะให้อาหารพวกมัน และฉันไม่เคยเห็นพวกมันกัดใครเลย แต่ด้วยจำนวนกวางที่เพิ่มมากขึ้นและมีพื้นที่น้อยลง พวกกวางจึงไม่มีแหล่งอาหาร ทำให้พวกมันต้องไปหากินที่อื่น ยิ่งป้องกันได้ยากขึ้น”
เพิ่มเขตกำจัด “กวางนารา”
ด้วยเหตุนี้ ทางการญี่ปุ่นจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกวางนารา โดยอนุญาตให้กำจัดกวางที่พบใน “เขตกันชน” ซึ่งเป็นพื้นที่โดยรอบสวนสาธารณะได้ แต่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะกำหนดให้การุณยฆาตกวางได้กี่ตัว โดยจะมีข้อสรุปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
โอกิมาสะ มุราคามิ ประธานคณะผู้พิจารณากล่าวว่า เขาหวังว่าประชาชนจะ “เข้าใจ” ถึงความจำเป็นที่จะต้องกำจัดกวางให้มากขึ้น หากมีการอธิบายอย่างละเอียด
ปัจจุบันเมืองนาราได้แบ่งพื้นที่ดูแลกวางออกเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตคุ้มครอง เขตกันชน และเขตควบคุม โดยกวางที่อยู่สวนสาธารณะได้รับการคุ้มครองอย่างดี ส่วนกวางที่อยู่ในเขตกันชน เมื่อได้รับบาดการเจ็บ หรือสร้างความรำคาญให้ชาวบ้านพวกมันจะถูกส่งกลับมาในพื้นที่ดูแลกวางที่อยู่ภายในสวน
ส่วนกวางที่อยู่ในพื้นที่ควบคุม ชาวบ้านสามารถกำจัดพวกมันได้ทันที โดยในแต่ละปีจะมีกวางถูการุณยฆาตประมาณ 180 ตัว
“กวางนารา” บางส่วนขาดอาหาร?
อีกสาเหตุที่ทำให้มีการออกกฎการกำจัดกวางเพิ่มเติม เกิดจากมีข้อร้องเรียนว่ามีการทารุณกรรมกวางเมื่อปี 2566 โดยศัลยสัตวแพทย์ที่ทำงานในมูลนิธิปกป้องกวางนาราได้แจ้งเจ้าหน้าที่จังหวัดว่า ผู้จัดการขององค์กรเพิกเฉยต่อคำร้องเรียนของเธอที่ระบุว่า มีกวางราว 270 ตัวกำลังอดตายอยู่ในกรง
แต่ทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ระบุว่าองค์กรไม่ได้ปล่อยกวางที่จับได้จากการบุกรุกที่ทำกินของเกษตรกรและกวางที่ได้รับบาดเจ็บกลางถนนให้อดตาย
โนบุยูกิ ยามาซากิ เลขาธิการมูลนิธิอ้างว่า กวางหลายตัวผอมแห้งเพราะพวกมันบาดเจ็บสาหัส หรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นเคยได้
ขณะที่ ยูมิโกะ โอดอนเนล เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวจังหวัดนารากล่าวว่า กวางในสวนนารามีสุขภาพแข็งแรงและได้รับอาหารอย่างดี ส่วนหนึ่งมาจากข้าวเกรียบทั้งหมดที่นักท่องเที่ยวมอบให้ แต่มีรายงานว่ากวางในศูนย์อนุรักษ์มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีอาหารหรือเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะดูแลพวกมัน
ทั้งนี้โอดอนเนลกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ของจังหวัดรับทราบเรื่องนี้แล้ว และได้จัดสรรเงินทุนเพิ่มเติมให้กับองค์กรอนุรักษ์แล้ว โดยเธอยอมรับว่ามาตรการนี้อาจไม่สามารถแก้ปัญหาจำนวนกวางได้ แต่คณะผู้พิจารณาจะคำนึงถึงประเด็นนี้ก่อนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับกำหนดจำนวนการกำจัด
ขณะที่ ฮาราดะ ไกด์นำเที่ยว ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า “ควรต้องหาสมดุลระหว่างโลกธรรมชาติกับความต้องการของคนในท้องถิ่น ชุมชน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอื่น ๆ”
ที่มา: South China Morning Post, The Asahi Shimbun, Visit Nara