“เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์” ช่วยผู้พิการทางสายตา อ่าน เขียนสะดวก
“เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตาด้วยเทคโนโลยีชิ้นส่วนจุลภาค” กุญแจสำคัญที่ช่วยไขประตูสู่โอกาส ร่วมถึงยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้พิการทางสายตา
KEY
POINTS
- ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รับทุนวิจัยจาก วช. พัฒนา “เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์” ด้วยเทคโนโลยีซินโครตรอน ช่วยผู้พิการทางสายตา อ่าน เขียนได้สะดวก
- จุดเด่นของรุ่นนี้ มีการแสดงผล 20 เซลล์ สามารถรองรับการอ่านไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ และการรองรับการพิมพ์อักษรเบรลล์เพื่อบันทึกเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ในตัวเครื่อง
- ปัจจุบันเครื่องต้นแบบจำนวนหนึ่งใช้งานในโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด เพื่อใช้ทดสอบภาคสนาม รวมไปถึงใช้เป็นต้นแบบให้ช่างเทคนิคและวิศวกรที่สนใจสามาถเรียนรู้และร่วมพัฒนา
ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตาด้วยเทคโนโลยีชิ้นส่วนจุลภาค ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถอ่านและเขียนข้อความได้อย่างสะดวก
โดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนในการผลิตชิ้นส่วนกลไกขนาดเล็กที่มีความแม่นยำสูง ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ
1. เซลล์แสดงผลอักษรเบรลล์ แต่ละเซลล์ประกอบด้วยจุดสัมผัส 6 จุด ที่สามารถเคลื่อนที่ขึ้นลงได้อิสระ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของจุดสัมผัสอยู่ที่ 1.2 มิลลิเมตร ซ่อนอยู่ภายในเครื่องแสดงผล
การเคลื่อนที่ขึ้นลงควบคุมโดยกลไกขนาดเล็กภายในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ทำหน้าที่กระตุ้นการเคลื่อนที่ จัดเรียงจุดสัมผัสตามรหัสอักษรเบรลล์ให้ผู้ใช้จะสัมผัสและอ่านด้วยปลายนิ้ว ซึ่ง 1 เซลล์ แสดงผล 1 ตัวอักษรเบรลล์
ดังนั้น การอ่านอักษรเบรลล์ได้อย่างต่อเนื่องจะต้องมีการเรียงตัวต่อกันมากกว่า 10 เซลล์แสดงผลขึ้นไป
2. ระบบควบคุมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่แปลงข้อมูลตัวอักษรเป็นรหัสอักษรเบรลล์ ควบคุมการเคลื่อนที่ของจุดสัมผัสภายในเซลล์ ประมวลผลข้อมูลจากแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์สำหรับอ่านเอกสาร เล่นเพลง หรือใช้งานอินเทอร์เน็ต
หัวใจสำคัญของเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตา ด้วยเทคโนโลยีชิ้นส่วนจุลภาค คือ กลไกภายในที่มีขนาดเล็ก และต้องประกอบรวมกันเป็นชุดอุปกรณ์ที่มีการเคลื่อนที่ กลไกเหล่านี้ถูกออกแบบและผลิตด้วยเทคนิคเอกเรย์ลิโธกราฟีจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ซึ่งมีความแม่นยำสูง
จุดเด่นของรุ่นนี้ มีการแสดงผล 20 เซลล์ สามารถรองรับการอ่านไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ และการรองรับการพิมพ์อักษรเบรลล์เพื่อบันทึกเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ในตัวเครื่อง
ปัจจุบันเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตา ด้วยเทคโนโลยีชิ้นส่วนจุลภาค ต้นแบบจำนวนหนึ่ง ได้ถูกนำไปใช้งานในโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ในสังกัดมูลนิธิธรรมิกชน เพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เพื่อใช้ทดสอบภาคสนาม รวมไปถึงใช้เป็นต้นแบบการศึกษาวิจัยเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ในประเทศเพื่อให้ช่างเทคนิคและวิศวกรที่สนใจสามาถเรียนรู้และร่วมพัฒนาเป็นกลุ่มวิจัยทางด้านอุปกรณ์สนับสนุนผู้พิการในประเทศไทย
สำหรับ การต่อยอดในอนาคตของเครื่องต้นแบบที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานอุตสาหกรรม จะถูกนำไปขยายผลในระดับการทดสอบ Pilot scale หรือ การนำร่อง ซึ่งเป็นความท้าทายในการขยายผลจากงานวิจัยต้นแบบไปยังกระบวนการผลิตในปริมาณที่มากขึ้น
โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือชิ้นส่วนขนาดเล็กที่เป็นกลไกแสดงผล ซึ่งมีแผนจะทำการผลิตที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น ทั้งในส่วนของการผลิตซ้ำและความคงทนเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถแสดงผลได้อย่างถูกต้อง
รวมไปถึงการรวบรวมความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ใช้งานและให้ความสำคัญกับการออกแบบทั้งตัวเครื่องและซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน เพื่อรองรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมเพื่อนำเข้าสู่ระบบการศึกษาของผู้พิการทางสายตาในประเทศ ต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิต ผู้พิการทางสายตาเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงข้อมูล ติดต่อสื่อสาร และใช้ชีวิตในสังคม
เทคโนโลยีจึงกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยไขประตูสู่โอกาส ร่วมถึงยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้พิการทางสายตา
วช.ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา สานต่อพระราชปณิธานในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่ ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
เพื่อสานต่องานวิจัยและพัฒนา “เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตาด้วยเทคโนโลยีชิ้นส่วนจุลภาค” ซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจาก สซ. เพื่อพัฒนาเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ให้มีขนาดกะทัดรัด ราคาประหยัด และสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงข้อมูลและติดต่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.