NTU สิงคโปร์ ส่งดาวเทียมทดสอบในไทย ก่อนเตรียมนำส่งสู่วงโคจร

NTU สิงคโปร์ ส่งดาวเทียมทดสอบในไทย ก่อนเตรียมนำส่งสู่วงโคจร

GISTDA ให้บริการทดสอบดาวเทียม ELITE จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง NTU ในสิงคโปร์ ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ อ.ศรีราชา เป็นการทดสอบดาวเทียมของกลุ่มลูกค้าจากต่างประเทศเป็นครั้งแรก

KEY

POINTS

  • GISTDA  ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ ร่วมทดสอบดาวเทียมชื่อว่า “ELITE” ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
  • ELITE เป็นดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยนำเข้ามาทดสอบในประเทศไทย มีน้ำหนัก 180 กิโลกรัม การทดสอบจะใช้เวลาร่วม 2 เดือน 
  • การที่ต่างชาติส่งดาวเทียมเข้ามาทดสอบในไทยเท่ากับสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยมากยิ่งขึ้นว่ามีศักยภาพและได้รับการยอมรับในระดับสากล

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA  ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ (Nanyang Technological University’s Satellite Research Centre หรือ NTU Singapore)

ร่วมทดสอบดาวเทียมชื่อว่า “ELITE” (Extremely Low Earth Imaging Technology Explorer) ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ GISTDA อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

NTU สิงคโปร์ ส่งดาวเทียมทดสอบในไทย ก่อนเตรียมนำส่งสู่วงโคจร

ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการศูนย์ผลิตดาวเทียมแห่งชาติจาก GISTDA กล่าวว่า ดาวเทียม “ELITE” เป็นดาวเทียมของประเทศสิงคโปร์ที่โคจรใกล้โลกมากที่สุดที่ 250 กิโลเมตร เหนือระดับน้ำทะเล

ELITE ยังเป็นดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยนำเข้ามาทดสอบในประเทศไทย มีน้ำหนัก 180 กิโลกรัม และมีความสูง 1.3 เมตร ความกว้าง 0.73 เมตร และความยาว 0.74 เมตร ซึ่งเมื่อกางแผงโซลาร์เซลล์ออก จะมีขนาดความกว้างถึง 4.2 เมตร

การทดสอบครั้งนี้ทาง GISTDA ได้ให้บริการทดสอบดาวเทียม ELITE ซึ่งเป็นดาวเทียมแบบจำลองเชิงวิศวกรรม (Engineering Qualification Model หรือ EQM) ที่ทางมหาวิทยาลัยได้สร้างขึ้นเพื่อใช้ทดสอบฟังก์ชั่นการทำงานร่วมกันของระบบย่อยดาวเทียม

ตลอดจนการทดสอบความแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรงจากจรวดนำส่งและการปฏิบัติภารกิจในอวกาศ เพื่อลดความเสี่ยงก่อนการผลิตดาวเทียมตัวจริง (Flight Model หรือ FM)

การทดสอบประกอบด้วย 1. การทดสอบความทนทานต่ออุณหภูมิร้อนและเย็นในสภาวะสุญญากาศ (Thermal Vacuum Testing)  2. การทดสอบการสั่นสะเทือน (Vibration Testing)  และ 3. การวัดคุณสมบัติเชิงมวล (Mass Properties Measurement)  รวมถึงการทดสอบในด้านอื่นๆ เป็นเวลาร่วม 2 เดือน

การทดสอบครั้งนี้ ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ ของ GISTDA เป็นการทดสอบดาวเทียมของกลุ่มลูกค้าจากต่างประเทศเป็นครั้งแรก ถือเป็นอีกก้าวในการส่งเสริมและผลักดันให้ศูนย์ฯ เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังช่วยพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรไทยให้มีความรู้ความสามารถ เปิดโอกาสการเรียนรู้ และเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมอวกาศในระดับสากล

NTU สิงคโปร์ ส่งดาวเทียมทดสอบในไทย ก่อนเตรียมนำส่งสู่วงโคจร

ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่เป็นส่วนช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยสู่เศรษฐกิจอวกาศในระดับโลกต่อไป รวมถึงยังสร้างเสริมความร่วมมือในระดับนานาชาติควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน

ภายหลังการทดสอบดาวเทียมแบบจำลองเชิงวิศวกรรม (EQM) ในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University มีแผนจะนำดาวเทียม ELITE Flight Model (FM) ซึ่งจะเป็นดาวเทียมดวงจริงที่จะนำส่งขึ้นสู่อวกาศ มาเข้ารับการทดสอบกับ GISTDA อีกครั้ง ในปี 2568

ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ ได้มาตรฐานในระดับสากลโดยได้รับการรับรองมาตรฐานการบินอวกาศสากล AS9100 

การที่ต่างชาติส่งดาวเทียมเข้ามาทดสอบในไทย เท่ากับสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยมากยิ่งขึ้นว่า มีศักยภาพและได้รับการยอมรับในระดับสากล

ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ ระบบนิเวศอวกาศ อุตสาหกรรมอวกาศ รวมไปถึงบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จะส่งผลให้เศรษฐกิจอวกาศของไทยเติบโตขึ้น

NTU สิงคโปร์ ส่งดาวเทียมทดสอบในไทย ก่อนเตรียมนำส่งสู่วงโคจร

นอกจากนี้ทาง GISTDA ได้ให้บริการทดสอบและให้คำแนะนำด้านการพัฒนาอุปกรณ์ดาวเทียม แก่หน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา บริษัทเอกชนชั้นนำ และหน่วยงานความมั่นคงในประเทศอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีอีกหลายประเทศที่จะส่งดาวเทียมและอุปกรณ์กี่ยวข้องเข้ามาทดสอบในไทยเพิ่มมากขึ้น.