ประเทศไทยกับการคว้าโอกาสจาก Web 3.0 เทคโนโลยีกระจายศูนย์

จากที่สัปดาห์ที่แล้วเราได้พูดถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี Web 3.0 หรือระบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายประเด็นไว้ถึงความสำคัญของการเข้าร่วมของไทยให้ไม่ตกขบวนรถไฟในเทคโนโลยีนี้

คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยจะไปอยู่ตรงไหนในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของเทคโนโลยีใหม่นี้? เพราะถ้าหากเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็จะนับเป็นการเสียโอกาสไม่น้อย

ความท้าทายของการก้าวเข้ามามีบทบาทกับเทคโนโลยี Decentralized นี้ของไทยมีมาก ทั้งในมุมมองจากฝั่งผู้ผลิต หรือจะเรียกว่าผู้พัฒนา และจากทางฝั่งผู้ใช้งาน

ทางฝั่งผู้พัฒนา ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พัฒนาที่มีศักยภาพไม่ธรรมดาหลายราย เราเห็นตัวอย่างจากบล็อกเชนสัญชาติไทยอย่าง Bitkub Chain และ JFin Chain จาก Oracle ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลของโลกจริงเข้าไปในบล็อกเชน อย่าง Band Protocol หรือจากผู้ให้บริการ DeFi อย่าง Alpha Finance และ Atadia

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าในตลาดไทยมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถจำนวนมาก เราจึงไม่อาจกล่าวว่าไทยขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแล้วพบว่านอกเหนือจากจำนวนเหล่านี้แล้ว พวกเขาไม่ได้เข้าทำงานในด้านนี้โดยตรงมากนัก หรือหากทำก็อาจจะไม่ได้ทำในไทย เนื่องมาจากโอกาสทางธุรกิจที่ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด

ในขณะเดียวกัน หากมองทางฝั่งผู้ใช้งาน ก็พบว่ายังไม่มีการใช้งานมากนัก ทั้งนี้ไม่เพียงเพราะภาคธุรกิจยังต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเทคโนโลยีและศักยภาพใหม่ๆ นี้ แต่ก็ด้วยในไทยก็ยังมีผู้ให้บริการที่จะสามารถสเกลให้ใหญ่และทันท่วงทีไม่พอ

ตัวอย่างที่ปรากฏชัดเจน เช่น เมื่อถึงโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในระดับชาติ อย่างเช่นการพัฒนากระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) บนระบบเชน ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันต่อความต้องการใช้งาน

สถานการณ์ในตอนนี้จึงเป็นที่น่าเสียดาย เพราะแท้จริงแล้วมีช่องว่างให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีนี้มาก อีกทั้งด้วยโลกไร้พรมแดนของระบบกระจายศูนย์ที่ฐานลูกค้าอาจเป็นใครก็ได้จากทั่วโลก

แต่ดูเหมือนว่าไทยยังไม่พร้อม เนื่องจากยังขาดนโยบายสนับสนุนให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับนักพัฒนา เนื่องจากการเริ่มต้นและสร้างการเติบโตของธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ความช่วยเหลือจากทางภาครัฐจะมีบทบาทอย่างมากในการบ่งชี้ทิศทางความสำเร็จของอุตสาหกรรมนี้

นโยบายภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทได้อย่างไร

การสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน แรงงานและการพัฒนาทักษะ เงินทุนสนับสนุน หรือนโยบายด้านภาษี จะทำให้ผู้ผลิตมีแต้มต่อในการตั้งต้น

นอกจากนั้นการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม จะก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ เพราะจะได้ทั้งการแพร่กระจายความรู้ วัฒนธรรมผู้ประกอบการ และการดึงดูดเงินทุนร่วมลงทุน ก่อให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมผู้ผลิตที่แข็งแกร่ง

 หากยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านของเรา รายงานการศึกษา Working Paper จากธนาคารโลกรายงานว่า รัฐบาลสิงคโปร์นั้นสนับสนุนการเกิดของบริษัทสตาร์ตอัปอย่างมาก ทั้งจากการเสนอเงินอุดหนุนและสิ่งจูงใจทางภาษีที่ดึงดูดให้กับบริษัทฟินเทคและสตาร์ตอัปด้านสินทรัพย์ดิจิทัล และจากการสร้างระบบนิเวศเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) เพื่อบ่มเพาะสตาร์ตอัปที่มีแนวโน้มดี

การสนับสนุนจากรัฐทั้งสองแนวนี้สำคัญ เนื่องจากธุรกิจเทคโนโลยีนั้นมีความเสี่ยงและมีระยะเวลาในการสร้างความสำเร็จทางธุรกิจที่นานกว่า หากมุ่งพึ่งพาเพียงเงินทุนแบบเงินร่วมลงทุน (VC) เท่านั้น ก็ต้องยอมรับว่า VC ภาคเอกชนนั้นย่อมมุ่งเน้นกำไรเป็นหลัก อาจจะมีสายป่านที่ไม่ยาว ต้อง Exit ไว ทำให้สตาร์ตอัปเหล่านั้นยากต่อการอยู่รอด หรืออาจจะไม่ได้เริ่มสร้างขึ้นเลย

ความสำคัญของการมีผู้ผลิตชาวไทย ที่สามารถผลิตเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เอง นอกจากจะช่วยให้ผู้ใช้งานไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังจะช่วยลดการพึ่งพาและนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งอาจดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาสนับสนุนหรือใช้งาน ซึ่งจะกลายเป็นรายได้ประชาชาติของไทยอีกด้วย 

ดังนั้น การสร้างทัศนคติที่ดีและส่งเสริมความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานก็มีความสำคัญ รัฐควรสนับสนุนให้ลองใช้หรือมีนโยบายคนไทยใช้เทคโนโลยีไทย

เพราะในหลายๆ ครั้ง เมื่อมีผู้ให้บริการเทคโนโลยีชาวไทยเข้ามา เรากลับเน้นใช้แต่ของต่างชาติ ทำให้ของไทยต้องปิดตัวไปน่าเสียดาย เงินไหลออก ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เทคโนโลยีกระจายศูนย์เท่านั้น แต่รวมถึงผู้ให้บริการประเภทอื่นๆ ด้วย

ท้ายที่สุด การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี Web 3.0 ในประเทศไทยอาจเป็นทางออกสำหรับการหาโอกาสทางธุรกิจของไทย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เราจะใช้ประโยชน์จากทักษะของแรงงานไทยอย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

ลดการพึ่งพาเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมเดิมหรืออุตสาหกรรมการผลิตที่มีผลิตภาพต่ำ แต่จะกลายเป็นผู้ให้บริการที่มุ่งแข่งขันกับประเทศพัฒนาแล้วได้ 

นโยบายสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการหาจุดแข็งของไทยให้เจอว่าคืออะไร การลงทุนในการศึกษา วิจัย และพัฒนา และการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อนวัตกรรม จะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของประเทศไทยในยุคอนาคตนี้.

ประเทศไทยกับการคว้าโอกาสจาก Web 3.0 เทคโนโลยีกระจายศูนย์