Digital Twin แบบจำลองดิจิทัล | พิเศษ เสตเสถียร

Digital Twin แบบจำลองดิจิทัล | พิเศษ เสตเสถียร

แบบจำลองดิจิทัล (Digital Replicas) หรือที่เรียกกันว่า "ฝาแฝดดิจิทัล" (Digital Twin) คือการจำลองเสมือนจริงของวัตถุหรือระบบทางกายภาพ กำลังกลายเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิต การดูแลสุขภาพ และสถาปัตยกรรม

ตัวอย่างของแบบจำลองทางดิจิทัลเช่น  บริษัทรถยนต์ Volvo ใช้แบบจำลองเสมือนจริง (Virtual replicas) เพื่อทดสอบและลองใช้วัสดุและอากาศพลศาสตร์ที่แตกต่างกันในการออกแบบรถยนต์ใหม่ ด้วยวิธีนี้พวกเขาสามารถเลือกการออกแบบในอุดมคติที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพและสร้างโมเดลที่ประหยัดเชื้อเพลิงได้

หรือในทางการแพทย์ บริษัทเช่น GE หรือ Siemens กำลังสร้างแบบจำลองดิจิทัลของผู้ป่วย โดยวิธีการนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสามารถจำลองและคาดการณ์ผลกระทบของการรักษาเป็นรายบุคคลได้

การใช้แบบจำลองดิจิทัลแผ่ขยายไปทุกวงการ ในแง่หนึ่งแบบจำลองดิจิทัลมีประโยชน์มากมาย เช่น ปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มความปลอดภัย ในทางกลับกัน แบบจำลองดิจิทัลก็ก่อให้เกิดผลกระทบทางกฎหมาย

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2024 ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียได้ลงนามในกฎหมายชื่อ AB 2602 ซึ่งเป็นกฎหมายทีกล่าวถึงการใช้แบบจำลองดิจิทัลของนักแสดง

กฎหมายนี้กำหนดให้มีสัญญาของข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับการใช้แบบจำลองเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแบบจำลองดิจิทัลเข้ามาแทนที่งานที่นักแสดงจะต้องทำด้วยตนเอง

กฎหมายมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่านักแสดงมีอำนาจควบคุมวิธีการใช้ภาพลักษณ์ดิจิทัลของตน และได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม

กฎหมายนี้ได้รับอิทธิพลจากความกังวลเกี่ยวกับการใช้เสียงและภาพลักษณ์ของนักแสดงในทางที่ผิด ด้วยการเพิ่มขึ้นของ AI ที่สร้างขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เช่น วิดีโอเกม ภาพยนตร์ และโฆษณา

คำจำกัดของกฎหมายครอบคลุมถึงการนำเสนอแบบดิจิทัลหลากหลายรูปแบบที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมถึงสิ่งที่สร้างขึ้นโดย AI, deepfakes และเทคนิคขั้นสูงอื่นๆ หากสัญญาเกี่ยวข้องกับการสร้างหรือการใช้แบบจำลองดิจิทัลของนักแสดงในการแสดงที่กำหนดไว้ในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2025 ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้

ในกฎหมายไทย พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ให้ความคุ้มครองงานต้นฉบับของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งรวมถึงงานศิลปกรรม งานวรรณกรรม และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การคุ้มครองนี้จะครอบคลุมถึง “แบบจำลองดิจิทัล” ด้วยหรือไม่?

กฎหมายย่อมไม่ได้พูดถึง “แบบจำลองดิจิทัล” ไว้โดยตรง กฎหมายที่มีอยู่จะปรับใช้ได้ไหม หรือจะต้องออกกฎหมายใหม่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดปัญหากับกฎหมายที่มีอยู่เสมอ.