ความเสี่ยงของ AI ในรถยนต์ | บวร ปภัสราทร
รถยนต์รุ่นใหม่ๆ แข่งขันกันในเรื่องระบบอำนวยความสะดวก และเติมเต็มความปลอดภัยในการขับรถ ต่างยี่ห้อต่างมีชื่อเรียกเทคโนโลยีที่ตนเองใช้เพื่อการนี้
แต่โดยรวมแล้วระบบนี้ทางเทคนิคเรียกว่า advanced driver assistance systems (ADAS) ทำงานด้วยพื้นฐานเดียวกันกับ Generative AI ที่บ้านเรากำลังตื่นเต้นกันถึงขนาดมีการตั้งกรรมการระดับกระทรวงขึ้นมาส่งเสริมการใช้งานกันขนานใหญ่
แต่การใช้ Generative AI โดยไม่รู้เรื่อง LLM อาจมีผลเสียมากกว่าผลดี พยายามส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยใช้ Generative AI เป็นเครื่องมือ โดยไม่รู้ว่ามันทำได้แค่พลิกโฉมข้อความที่มันเคยฝึกมาให้กลายเป็นข้อความตามที่เราอยากได้
มันไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเลย ยิ่งใช้มากก็ยิ่งลดทอนความคิดสร้างสรรค์ลงไปเสียอีก เพราะถูก AI ตีกรอบความคิดสร้างสรรค์ให้แคบลง
ระบบอัตโนมัติ ADAS ที่มาช่วยขับรถแบ่งได้เป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ “ระดับศูนย์” คือรถยนต์ธรรมดาที่ทุกอย่างคนขับดูแลเองหมด ไม่มี ADAS ระดับหนึ่งจะเริ่มมีบริการช่วยอำนวยความสะดวกในการขับ เช่น ระบบแจ้งเตือนการขับข้ามช่องจราจร ระบบล็อกความเร็ว Cruise Control
“ระดับสอง” มีระบบอัตโนมัติช่วยการขับบางส่วน ซึ่งเป็นระดับที่เกือบจะมีอยู่ในรถใหม่แทบทุกยี่ห้อ เช่น Adaptive cruise control วิ่งตามรถคันหน้าได้เอง ระบบช่วยควบคุมให้อยู่ในช่องจราจรโดยอัตโนมัติ วิ่งออกนอกช่องจราจรเมื่อไหร่ พวงมาลัยหมุนกลับเองโดยอัตโนมัติ ระบบหยุดรถอัตโนมัติในกรณีฉุกเฉิน
“ระดับสาม” จะถึงขั้นที่รถขับเองโดยอัตโนมัติได้ในบางพื้นที่ที่ถนนมีความพร้อม ช่องจราจรตีเส้นชัดเจน ขอบถนนมีแถบสี ใน “ระดับสี่กับห้า” รถจะขับได้เองในแถบทุกสภาพถนน
ไม่น่าแปลกใจที่รถใหม่ ในระดับสองที่มีระบบอัตโนมัติเพียงบางส่วน มีอยู่ในรถใหม่ๆ ในช่วงนี้มากมายหลายยี่ห้อ มีเพียงไม่กี่ยี่ห้อที่ขึ้นไปถึงระดับสาม สี่ และห้า เพราะจะแพงขึ้นอีกมากทีเดียว
คนผลิตรถเขาเตือนไว้ทุกครั้งที่เราใช้บริการระบบอัตโนมัตินี้ว่า คนขับยังต้องช่วยควบคุมการทำงาน เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย บอกให้เราโอเคว่าเป็นความรับผิดชอบของเราเองในการใช้ระบบอัตโนมัตินี้ ซึ่งเตือนให้เรารู้ว่า AI ที่มาช่วยงานนี้ยังเก่งไม่คงเส้นคงวา บางทีก็แม่นยำ บางทีการคลาดเคลื่อนได้
ที่สหรัฐอเมริกา หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยในการใช้ทางหลวง เขาไปสำรวจอุบัตเหตุที่เกิดขึ้น แล้วพบว่ารถที่มีระบบอัตโนมัติในระดับสองนี้ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุชนท้าย “สูงกว่า” รถที่ไม่มีระบบอัตโนมัติถึงเท่าตัว
น่าจะเดาได้ว่ามาจากการที่รถตัดสินใจหยุดเองโดยอัตโนมัติ ในสถานการณ์ที่ยังไม่ควรจะเบรค ถ้ารถที่ตามมาคิดว่ายังไม่น่าจะเบรค เลยไม่เตรียมตัวจะหยุด พลาดท่าก็กลายเป็นการชนท้ายไปเลย
หน่วยงานนี้ยังพบว่า พอคนขับลองใช้ระบบอัตโนมัติสักระยะหนึ่ง ความเชื่อใจในระบบอัตโนมัตินี้ก็มากขึ้น จนละเลยสิ่งที่เคยกระทำเพื่อดูแลปลอดภัย หันไปปล่อยให้เป็นบทบาทของระบบอัตโนมัติแทน จนกลายเป็นความประมาทในการควบคุมรถ จนเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
ถ้าเป็น AI มาช่วยเรื่องงานเอกสารต่างๆ แม้จะมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น ก็เดือดร้อนแค่ต้องมาแก้ไขงานนั้นใหม่ แต่ถ้า AI ผิดพลาดในการช่วยควบคุมการขับรถ ผลของความผิดพลาดอาจหมายถึงการบาดเจ็บล้มตาย
ADAS มีความผิดพลาดได้เหมือนกับคนขับรถ เราหวังกันว่าถ้าใช้รถขับเองได้แล้วอุบัติเหตุจะลดลง เพราะสถิติบอกว่าอุบัติเหตุกว่า 94% มาจากความประมาทของคนขับ AI ไม่ได้ถูกฝึกให้ประมาท แต่ AI เกิดความผิดพลาดขึ้นได้เมื่อโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมที่ยังคงมีข้อผิดพลาดอยู่
เช่นเดียวกับที่ LLM ใน Generative AI เดาผิด หรือไม่ก็มีความลำเอียงในการพลิกโฉมข้อความที่เคยถูกฝึกไว้ มาตอบคำถามเราได้เสมอ ที่สำคัญคือเราเดาล่วงหน้าไม่ได้ว่า AI จะเดาผิดตอนไหน ในระหว่างที่ควบคุมระบบขับรถอัตโนมัติ
จะใช้ AI ในรถยนต์ ควรเข้าใจ AI ที่จะใช้ ถ้าใช้แล้วถูกใจแค่ไหนก็ยังต้องพร้อมจะควบคุมรถด้วยตนเองอยู่เสมอ