เส้นทางของวิทยาศาสตร์และวิจัยเพื่อความยั่งยืน
แนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ จัดว่าเป็นแนวทางการพัฒนาขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงการต่อยอดเป็นงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูงของประเทศ มีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้แน่นอน และมีสุขภาวะที่ดี และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมั่นคงและมีความสุข
ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาขั้นพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้สนับสนุนนโยบาย “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน”
เพื่อเป็นการเสริมสร้างการทำงานในรูปแบบเครือข่าย โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนในมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการและยกระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญของประเทศได้แก่ Go Green ความยั่งยืน Carbon footprint, Carbon neutrality พลังงานสะอาด เศรษฐกิจชีวภาพ การจัดการขยะที่มีความเหมาะสม และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศรุต อำมาตย์โยธิน และทีมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการศึกษาและพัฒนางานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น และขยะจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน มาเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการเริ่มต้นงานวิจัยเพื่อความยั่งยืน
หนึ่งในงานวิจัยที่มีความโดดเด่น คือ การพัฒนาอวัยวะเทียมจากเปลือกไข่ไก่ ที่พัฒนาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเปลือกไข่ไก่ ซึ่งถือว่าเป็นขยะจากทุกครัวเรือนที่มีปริมาณมากและไม่มีราคา ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นและเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
โดยเปลือกไข่ไก่มีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นองค์ประกอบอยู่เป็นจำนวนมากและสามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นของการสังเคราะห์ ไฮดรอกซีอาพาไทด์ได้ ซึ่งสารดังกล่าวนั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระดูกและฟัน มีโอกาสในการต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นวัสดุทางการแพทย์ และลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การพัฒนาโฟมจากผักตบชวาเพื่อดูดซับคราบน้ำมันในแหล่งน้ำ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ในหน่วยวิจัยด้านเคมีสิ่งทอและพอลิเมอร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากผักตบชวาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมากที่สุด
โดยผักตบชวามีเส้นใยเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบ จัดว่าเป็นเส้นใยธรรมชาติที่มีความแข็งแรง สามารถทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี สามารถนำมาพัฒนาเป็นเส้นใยเสริมแรงสำหรับดูดซับคราบน้ำมันในแหล่งน้ำได้ เช่น ลำคลอง แม่น้ำ และทะเลสาบ
นอกจากนั้นยังมีประสิทธิภาพในการพัฒนาเป็นชิ้นงานสำหรับทำเป็นกันชนเรือ เพื่อลดแรงกระแทกของเรือได้อีกด้วย
เซนเซอร์สำหรับวัดคุณภาพน้ำมันพืช เป็นความร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายในการตรวจวัดคุณภาพน้ำมันพืชภายหลังจากที่มีการใช้งานแล้ว
โดยคุณภาพของน้ำมันพืชจะต่ำลงเมื่อมีการใช้ซ้ำ มีการเกิดขึ้นของกรดโอเลอิกส่งผลให้น้ำมันพืชกลายเป็นสีคล้ำ มีกลิ่นเหม็นหืน ส่งผลต่อคุณภาพอาหารที่ต่ำลง และคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค
เซนเซอร์นี้จะทำการพัฒนาในรูปแบบของกระดาษที่สามารถเปลี่ยนสีได้ ทำให้วิเคราะห์ถึงคุณภาพของน้ำมันพืชภายหลังจากการใช้งานได้ ส่งผลให้เราทราบถึงคุณภาพน้ำมันพืชและหลีกเลี่ยงการใช้งานในสภาวะที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
วิทยาศาสตร์และวิจัยเพื่อความยั่งยืนเหล่านี้เป็นเพียงผลงานวิจัยบางส่วน ที่มีจุดเริ่มต้นจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน
สามารถใช้ส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้ มีศักยภาพในการเสริมสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ส่งเสริมให้เกิดการทำงานในระดับเครือข่าย และพร้อมเผชิญกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้งานวิจัยสามารถแก้ไขปัญหาสู่ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ให้มาทำงานร่วมกัน
โดยรัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการกำหนดและส่งเสริมนโยบาย เช่น กำหนดนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ในขณะเดียวกันภาคเอกชน ควรตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมุ่งพัฒนากระบวนการผลิตและสินค้าที่ตอบโจทย์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย
คอลัมน์ Now and Beyond
รศ. ดร.ศรุต อำมาตย์โยธิน
สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)