มก.เปิดตัวห้องปฏิบัติการเทคโนโลยี คลีนรูม-KU Power X เตรียมนิสิตสู่อนาคต
ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยี KU Power X และ Cleanroom โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ตอบโจทย์การพัฒนาทักษะนิสิตและบุคลากรให้พร้อมก้าวสู่โลกอนาคต
KEY
POINTS
ม.เกษตรศาสตร์ เปิดตัว 2 ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยี ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ตอบโจทย์การพัฒนาทักษะนิสิตและบุคลากรให้พร้อมก้าวสู่โลกอนาคต- “KU Power X” ห้องปฏิบัติการโลกเสมือนจริงที่จะเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้และการทำงานไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยี AR / VR / MR
- ห้อง
ปฏิบัติการเทคโนโลยี Cleanroom ตัวอย่างของการออกแบบที่ได้มาตรฐานสูงสุด นวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของการแพทย์และอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดตัวห้องปฏิบัติการวิจัย ตอบโจทย์การพัฒนาทักษะนิสิตและบุคลากรให้พร้อมก้าวสู่โลกอนาคต “KU Power X” ห้องปฏิบัติการโลกเสมือนจริงที่จะเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้และการทำงานไปอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยี AR / VR / MR
และ ห้องวิจัยเทคโนโลยี “Cleanroom” ตัวอย่างของการออกแบบที่ได้มาตรฐานสูงสุด นวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของการแพทย์และอุตสาหกรรม
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี ม.เกษตรฯ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการทั้ง 2 ห้องเป็นนวัตกรรมฝีมือคนไทยโดย มก. มีมาตรฐานความแม่นยำที่ได้รับการยอมรับ ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ถือเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่จะสร้างองค์ความรู้และนำมาออกให้บริการกับประชาชน และที่สำคัญคือ เป็นกุญแจที่ช่วยพัฒนาทักษะของนิสิตและบุคลากรให้ก้าวสู่เส้นทางอาชีพระดับสากล
KU Power X เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้
ดร.ทวีเดช ศิริธนาพิพัฒน์ ผู้พัฒนาห้องปฏิบัติการและวิจัย KU Power X อธิบายว่า KU Power X เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับเทคโนโลยี Immersive ทำการทดลองและวิจัยสร้างสภาพแวดล้อมสถานการณ์เสมือนจริงด้วยเครื่องมือทางดิจิทัล ที่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสถานการณ์
มีประสบการณ์เสมือนจริงต่อเรื่องราวนั้นๆ ผ่านเทคนิค Augmented Reality (AR) / Virtual Reality (VR) / Mixed Reality (MR) เพื่อเตรียมนิสิตเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตแห่งโลกดิจิทัล (Digital Transformation)
กลุ่มผู้ใช้เป้าหมายจะเริ่มจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากการศึกษาภาคทฤษฎีในทางวิศวกรรมอาจมีความซับซ้อนสูง มีรายละเอียดที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้เริ่มเรียนรู้ หากมีการจำลองสภาพแวดล้อมสถานการณ์เสมือนจริงขึ้นจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
ห้องปฏิบัติการนี้ยังมีความมุ่งหมายเป็นศูนย์กลางแก่คณาจารย์ นักวิจัยและนิสิตทุกคณะใน ม.เกษตรฯ ได้เข้ามาเก็บเกี่ยว แลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์เทคโนโลยี Immersive ในการนำไปประยุกต์กับโครงงานในสาขาที่ศึกษาอยู่ หรือแม้แต่ต่อยอดจินตนาการที่แต่ละคนวาดไว้ เพื่อรองรับการเรียนรู้ในยุคหน้า
เทคโนโลยี Immersive ยังสามารถนำไปใช้ในการสร้างสถานการณ์ฝึกอบรมบุคลากรในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะแก่การเข้าไปที่หน้างานจริง เป็นส่วนตัวหรืออาจจะเป็นอันตรายต่อบุคลากร ที่จะอบรมทดสอบได้ ช่วยการทำ Upskill / Reskill ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีนี้สามารถทำให้ผู้ใช้งานหรือออกแบบเห็นโมเดลหรือต้นแบบเป็นภาพเดียวกันเพื่อการปรับปรุงหรือออกแบบร่วมกันจากหลายผู้ใช้งาน หรือจะมีการประยุกต์การใช้งาน IoTs เพื่อทำ Digital Twin สำหรับการผลิตยุค Industrial 4.0
อุปกรณ์ที่มีอยู่ในห้องวิจัย ประกอบไปด้วย แว่น MR Hololens 2 ของ Microsoft และแว่น VR/MR Quest 3 ของ Meta คอมพิวเตอร์ Windows/Mac ที่ใช้ Unity และ Unreal Engine เป็นซอฟต์แวร์หลัก
โมเดลการออกแบบระบบ Cleanroom
รศ.ดร.ประกอบ สุรวัฒนาวรรณ ผู้พัฒนาห้องปฏิบัติการและวิจัยเทคโนโลยี Clean room กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการฯ ถือเป็นแหล่งวิจัยและการเรียนรู้ชั้นนำ ที่ถูกออกแบบตามมาตรฐานระดับสูง โดยความร่วมมือจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท พราว เทคโนเวชั่น จำกัด
ห้องปฏิบัติการนี้พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบในการออกแบบคลีนรูม ที่สามารถนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมตั้งแต่การแพทย์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงการวิจัยในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาสังคมในยุคปัจจุบัน
ทีมงานออกแบบให้ห้องนี้มีคุณสมบัติขั้นสูง ที่สามารถใช้ศึกษาการทำงานได้ทั้งสถานภาพห้องแรงดันบวกและแรงดันลบ ควบคุมอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 20-24 องศาเซลเซียส ควบคุมความดันในช่วง -5 ถึง 5 ปาสคาล
และควบคุมความชื้นที่ระดับ 40-60% RH สามารถสร้างอัตราการไหลของอากาศที่ 25 ACH (Air Changes per Hour) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมสำหรับงานวิจัยและการผลิตที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดเชื้อสูง
นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์ Bag in-Bag out Hepa Filter ในระบบระบายอากาศ การใช้เทคโนโลยี Particle Image Velocimetry (PIV) ตรวจวัดและวิเคราะห์การไหลของอากาศภายในห้อง ทำให้นักวิจัยและนักออกแบบสามารถเข้าใจพฤติกรรมการไหลของอากาศได้อย่างละเอียดและมีประสิทธิภาพสูงสุด
Cleanroom นี้ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งวิจัยและนวัตกรรม แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกแบบในอุตสาหกรรมที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดเชื้อขั้นสูง ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์
แถมยังเปิดโอกาสให้กับนิสิต วิศวกร และนักออกแบบจากหลากหลายสาขา ได้ศึกษาและเรียนรู้การใช้งานในห้องคลีนรูมจริง ทำให้มีศักยภาพที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานในวงกว้าง ทั้งในด้านสุขภาพ การวิจัย และการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ.