ม.เกษตรฯ แปลงของเหลือจาก ‘โรงงานซูเรมิ’ สู่สินค้าราคาสูง (2)
ม.เกษตร ผนึก ม.แฮเรียต-วัตต์ ประเทศอังกฤษ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก ‘การสกัดของเหลือในโรงงานซูเรมิ-อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป’
น้ำนมผสมแอสตาแซนธีน กัมมี่เยลลี่ผสมแอนตาแซนธีน น้ำมันปลา และโปรตีนคอลลาเจน 4 ผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่ได้จากการสกัดเนื้อสัตว์ส่วนเหลือทิ้ง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ มหาวิทยาลัยแฮเรียต-วัตต์ (Heriot-Watt University) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นเรื่องการแปรรูป หรือ Biorefinery Process โดยได้มาช่วยกันออกแบบและถ่ายทอดการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าให้กับสารสกัดจากเนื้อสัตว์ให้แก่ผู้ประกอบการ
ภายใต้โครงการ “ทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมจากสหราชอาณาจักร (Newton Fund)” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลไทย ผ่านทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำงานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เรื่อง “ส่วนเหลือจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลในประเทศไทย”
ขณะเดียวกันก็ยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการหลายรายในการส่งวัตถุดิบ-ส่วนเหลือมาให้ทางนักวิจัยทดลองในระดับห้องปฏิการจริง ยกตัวอย่างเช่น ส่วนเหลือจากกระบวนการผลิตซูริมิ ส่วนเหลือจากกระบวนการผลิตกุ้ง และอาหารทะเลชนิดอื่น ๆ ทำให้ได้ตัวอย่างจากงานวิจัยมาทั้งหมด 4 ตัวอย่าง ได้แก่ หัว-ตัวเปลือกกุ้ง เนื้อปลาที่เป็นส่วนเหลือจากกระบวนการผลิตซูริมิ ไขมันปลาจากน้ำล้างปลา และหลอดลมไก่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- สารสกัดคอลลาเจนเข้มข้นชนิดผง (Collagen Powder) ที่ได้จากเนื้อปลาบดผสมก้าง หรือ ซูริมิ (Surimi) เนื้อปลาบดที่ผ่านการล้างด้วยน้ำ ซึ่งกระบวนการผลิตเริ่มมาจากการทำความสะอาด > สกัดคอลลาเจน > สกัดตัวแคลเซียมออก จากนั้นก็นำวัตถุดิบทั้งหมดไปแปรรูปต่อเป็นโปรตีนไฮโดรไลเซต (Protein hydrolysate) และยังสามารถไปต่อได้ด้วยการวิเคราะห์ Protein content, Collagen content, Amino acid profile และ Molecular weight determination
นอกจากนี้ก็ยังได้ ผงโปรตีนที่มีแคลเซียลสูง มีโปรตีนอยู่ 50% มีแคลเซียมสูงถึง 11,074 mg/110 g ซึ่งโปรตีนดังกล่าวสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร สามารถเพิ่มแคลเซียมในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และสามารถให้กลิ่น-รส ที่เป็นขนมขบเคี้ยวแบบคาวที่ดี เช่น การทำถั่วเคลือบผงรสปลาหมึก
- น้ำมันปลา (Crude Fish Oil) ได้มาจากไขมันปลาซาดีนที่นำมาบีบ-อัด-สกัดอย่างง่าย หรือการสกัดหยาบ สามารถนำไปแปรรูปต่อไปเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ หรือสามารถนำไปใช้กับอาหารเพื่อช่วยเพิ่มกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3
- สารต้านอนุมูลอิสระหรือแอสตาแซนธิน (Astaxanthin) และไซโตซาน (Chitosan) มาจากตัวเปลือกและหัวกุ้งซึ่งมีสารสีส้มและโปรตีนที่ยังเหลืออยู่ ได้มาจากอุตสาหกรรมผลิตที่รวมมาจากหลายบริษัท สามารถนำสารสกัดไปทำเป็นอาหารเสริม
- สารสกัดบริสุทธิ์ให้โปรตีนและเอนไซม์ มาจากหลอดลมไก่ ที่ผ่านการบดอัดด้วยตะแกรง ทำให้ได้เนื้อที่มีโปรตีน ที่ยังมีไขมัน เรียกว่า MBCM
ผศ.ดร.ทานตะวัน พิรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ นักวิจัยที่ได้รับทุน Newton Fund กล่าวว่า จากส่วนเหลือผลพลอยได้ที่มีมูลค่าต่ำก็สามารถกลายไปเป็นสารที่มีมูลค่าสูงขึ้นในกลุ่มของสารสกัดต่าง ๆ โดยสารเหล่านี้มีมูลค่ามากกว่าวัตถุดิบเป็นพันเท่า มีโอกาสทางตลาดสูงมาก เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคสนใจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง
ดังนั้น ส่วนผสมเหล่านี้สามารถที่จะพัฒนาต่อไปเป็นส่วนผสมฟังก์ชันที่ออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ได้แต่ต้องมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รับรอง และต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง โดยสิ่งที่เราต้องควบคุมการสกัดได้แก่
- วิธีการที่ใช้ในการสกัด ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของวัตถุดิบ กล่าวคือ วัตถุดิบของเราเหมาะสมต่อวิธีการสกัดนั้นหรือไม่
- ข้อจำกัดของกระบวนการสกัดนั้น ๆ โดยเฉพาะ เครื่องมือ มีที่ให้ใช้จริง ๆ หรือเปล่า
- ผลิตแล้วสามารถออกจากห้องปฏิบัติการไปสู่ Pilot Scale อุตสาหกรรมได้จริงไหม
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่นำสารสกัดเชิงฟังก์ชันไปต่อยอด อาทิ น้ำนมผสมแอสตาแซนธีน กัมมี่เยลลี่ผสมแอนตาแซนธีน น้ำมันปลา หรือคอลลาเจน เป็นต้น
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ทานตะวัน ยังกล่าวถึงโครงการ “โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery Pilot Plant)” ของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้บริการด้านไบโอรีไฟเนอรี โดยรองรับตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ได้แก่ กระบวนการแยกองค์ประกอบชีวมวล กระบวนการแปรรูปด้วยชีวมวล และกระบวนการแยกเพื่อเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้
ทั้งนี้ โรงงานต้นแบบได้รับมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) เพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร หรือเวชสำอาง ได้แก่ สารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ อาหารเสริมสุขภาพ และระบบที่เป็น Non-GMP เพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่น ๆ โดยโรงงานแห่งนี้จะมีถังหมัก (Fermentor) มาตรฐาน GMP ที่มีขนาด 15,000 ลิตร เพื่อรองรับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่สามารถทดสอบตลาดได้
“การเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ ให้ก้าวข้ามจากการรับจ้างผลิตแบบเดิมไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นสิ่งที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง”