2 ปีแผนปฏิบัติการ AI เดินหน้าครบทุกมิติ พัฒนาคน นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน

2 ปีแผนปฏิบัติการ AI เดินหน้าครบทุกมิติ พัฒนาคน นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นปรากฏการณ์สำคัญของโลก โดยได้รับความคาดหมายในฐานะเครื่องมือทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกในยุคใหม่

KEY

POINTS

  • "แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570" มีการขับเคลื่อนมาแล้ว 2 ปี ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว. และ ดีอี
  • ด้านการพัฒนากำลังคนด้าน AI ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของแผนฯ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินพัฒนากำลังคนด้าน AI ผ่านการพัฒนาทักษะทางด้าน AI ในรูปแบบต่าง ๆ
  • การจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ปี 2566 ไทยอยู่ในลำดับที่ 37 จาก 193 ประเทศ ปรับตัวลง 6 อันดับจากปีก่อนที่อยู่ในลำดับที่ 31 จาก 181 ประเทศ

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลกต่างเร่งพัฒนา AI ของตนเองอย่างเข้มข้นและรวดเร็วจนนำไปสู่ AI ที่มีความสามารถใกล้เคียงมนุษย์ (Artificial General Intelligence) อย่างไรก็ตามการขาดธรรมาภิบาลในการพัฒนาและใช้งาน 

AI อาจนำมาซึ่งความท้าทายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม การใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน การละเมิดความเป็นส่วนตัว ตลอดจนภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนขึ้น 

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ประเทศไทยได้แสดงความพร้อมรับมือผ่าน "แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570" ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 

2 ปีแผนปฏิบัติการ AI เดินหน้าครบทุกมิติ พัฒนาคน นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน

โดยมีการขับเคลื่อนมาแล้ว 2 ปี ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 2 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 

กล่าวว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติตลอดสองปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 

ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร พร้อมเครื่องมือประเมินด้าน AI อีกทั้งยังสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่างประเทศเพื่อร่วมนำเสนอ และรับฟังความคิดเห็นแนวทางการกำกับดูแล AI ในระดับสากลเพื่อนำมาเตรียมความพร้อมด้านจริยธรรมและธรรมภิบาล AI ของไทย 

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI ประเทศไทย (National AI Service platform) ภายใต้การสนับสนุนของ GDCC มีจำนวนการใช้งานโดยเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านครั้งต่อเดือน

รวมทั้งให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณอันดับ 1 ในอาเซียน สำหรับการวิจัยด้าน AI ของภาครัฐและเอกชน 

2 ปีแผนปฏิบัติการ AI เดินหน้าครบทุกมิติ พัฒนาคน นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน

ด้านการพัฒนากำลังคนด้าน AI ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของแผนฯ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินพัฒนากำลังคนด้าน AI ผ่านการพัฒนาทักษะทางด้าน AI ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง 

หลักสูตรอบรมทักษะ AI ระยะสั้นและหลักสูตรพัฒนาทักษะ AI ที่ผสมผสานตั้งแต่การเรียนรู้ด้วยตนเองจนปิดท้ายด้วยการฝึกงานในสถานที่จริงเป็นจำนวนรวมมากกว่า 1 แสนคน 

แผนพัฒนากำลังคนด้าน AI มีกรอบดำเนินการใน 3 ส่วน แบ่งตามช่วงชีวิตการเรียนรู้ของคน ดังนี้ 

(1) AI@School เพื่อสร้างผู้สอนและบรรจุหลักสูตร AI สำหรับนักเรียนทุกช่วงชั้นให้มีความตระหนักและทักษะทางด้าน AI เบื้องต้น 

(2) AI@University เพื่อพัฒนาทักษะ AI ทุกระดับอย่างต่อเนื่องในระบบอุดมศึกษา 

(3) AI@Lifelong Learning เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนในทุกช่วงวัยและทุกระดับการศึกษาสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะ AI ได้ตลอดช่วงชีวิต ตอบรับนโยบาย อว. For AI ทั้ง 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 

2 ปีแผนปฏิบัติการ AI เดินหน้าครบทุกมิติ พัฒนาคน นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน

(1) AI for Education การใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุดและเร็วที่สุด 

(2) AI workforce development การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสร้างพื้นฐานด้าน AI ให้คนไทยในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน

(3) AI innovation ด้านการสนับสนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาด ได้ส่งเสริมให้สตาร์ตอัปพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีจาก AI มากกว่า 50 ต้นแบบผลิตภัณฑ์

ส่วนด้านการวิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินการนำ AI เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูลประชากรขนาดใหญ่ เพื่อการวางแผนยุทธศาสตร์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

โดยมีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 6 แสนคน มีหน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ประโยชน์ 220 หน่วยงาน ครอบคลุม 17 จังหวัดทั่วประเทศ

และการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือ Medical AI Consortium เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Medical AI Data Sharing) ในปัจจุบันมีข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์มากกว่า 1.6 ล้านภาพ

2 ปีแผนปฏิบัติการ AI เดินหน้าครบทุกมิติ พัฒนาคน นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานขับเคลื่อนแผน AI แห่งชาติตามแผนยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ ในปีที่ผ่านมาได้สะท้อนผ่านการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ปี 2566

ที่ประเทศไทยยังคงรักษาตำแหน่งในกลุ่ม 40 อันดับแรกของโลก ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นและจำนวนประเทศที่เข้าร่วมการจัดอันดับที่เพิ่มขึ้น โดยอยู่ในลำดับที่ 37 จาก 193 ประเทศ

แม้จะปรับตัวลง 6 อันดับจากปีก่อนที่อยู่ในลำดับที่ 31 จาก 181 ประเทศ เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่าไทยมีจุดแข็งในด้านภาครัฐที่ได้ 77.21 คะแนน และด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ 70.55 คะแนน

สะท้อนความพร้อมของกลไกภาครัฐและระบบโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการพัฒนา AI ขณะที่ด้านเทคโนโลยีได้ 41.33 คะแนนซึ่งสูงขึ้นจากปีก่อน แต่ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ไทยต้องเพิ่มการพัฒนาต่อยอดเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้าน AI ในองค์รวมของประเทศในระยะต่อไป

2 ปีแผนปฏิบัติการ AI เดินหน้าครบทุกมิติ พัฒนาคน นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน

ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า

เนคเทคในฐานะองค์กรที่มีบทบาทด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยี AI ที่สั่งสมประสบการณ์วิจัยและพัฒนามากว่า 20 ปี

โดยได้ส่งมอบแพลตฟอร์มให้บริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทยหรือ AI for Thai ให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้าน AI ของประเทศ และแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติ ในฐานะแพลตฟอร์มกลางบริการ AI ประเทศไทย (National AI Service platform)

ภายใต้การสนับสนุนของ GDCC และหน่วยงานพันธมิตร ซึ่งให้บริการ API มากกว่า 60 รายการ ครอบคลุมการประมวลผลภาษาไทย ทั้งด้านภาพ เสียง และข้อความ และมียอดการใช้งานสะสม 53 ล้านครั้ง

2 ปีแผนปฏิบัติการ AI เดินหน้าครบทุกมิติ พัฒนาคน นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้เนคเทคและพันธมิตรยังร่วมพัฒนา ‘OpenThaiGPT’ แบบจำลองภาษาไทยขนาดใหญ่ (Large Language Model) ในรูปแบบโมเดลพื้นฐานแบบโอเพนซอร์ส (Open-source Foundation Model) ที่ตอบสนองความต้องการด้านการประมวลผลภาษาไทย

ปัจจุบันมี 5 หน่วยงานทดลองนำระบบไปประยุกต์ใช้งาน (Proof of Concept) ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และกรมสรรพากร

และเป็นโมเดลพื้นฐานของการเปิดตัว 22 บริการใหม่บน AI for Thai  โดยมีไฮไลท์ คือ “ปทุมมา LLM” Generative AI ที่สามารถประมวลข้อมูลภาษาไทย
ได้หลากหลายทั้งรูปภาพ เสียง และข้อความ ถามตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ

สามารถบรรยายรูป (image captioning) ถอดและบรรยายเสียง (ASR and ACC) วิเคราะห์อารมณ์ผู้พูด (Audio Analysis) ถามตอบจากเสียง (Audio QA) อีกทั้งยังสามารถเข้าใจและสรุปสาระสำคัญของเอกสารราชการ หรืองานวิจัยได้อีกด้วย

นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถพูดคุยตอบโต้หรือตั้งคำถามกับเอกสารที่กำหนด
ได้อย่างเป็นธรรมชาติ สามารถใช้งาน “ปทุมมา LLM” ได้ด้วย

ท่านที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย และรายงานผลการดำเนินงาน ประจำปี 2567 ได้ที่ https://www.ai.in.th/ ตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป.