วิจัยและพัฒนา R&D ประเทศไทย จะไปทางไหน
การวิจัยและพัฒนา (R&D) ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศ แต่งานวิจัยของไทย มักถูกกล่าวหาว่า เป็นงานวิจัย “ขึ้นหิ้ง” ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
จากข้อมูลสถานภาพการพัฒนาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จัดทำโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) พบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่าย R&D ของไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GERD/GDP) ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 1.21
เมื่อเทียบกับปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 0.21 ในช่วงเวลา 15 ปีเติบโตถึง 6 เท่า ถือว่าประเทศไทยได้เพิ่มความสำคัญของ R&D โดยภาคเอกชนลงทุนด้านวิจัยฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 75 ของงบวิจัยฯ ทั้งหมด
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จำนวนบุคลากร R&D เพิ่มจาก 6.5 คน เป็น 24 คนต่อประชากร 10,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่า แต่หากหันมามอง “ผลผลิต” ของงานวิจัยแล้ว พบว่า จำนวนบทความด้านวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้นจาก 1,727 บทความในปี 2550 (ข้อมูลจาก สวทน. ณ ปี 2554) เป็น 13,673 บทความในปี 2564
ส่วนจำนวนสิทธิบัตรคนไทยยื่นขอจดทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 1,130 ฉบับเป็น 1,548 ฉบับ แต่เมื่อดูเทียบจำนวนสิทธิบัตรต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคนแล้ว ตัวเลขกลับลดลงจาก 14.1 เหลือ 10.5 เท่านั้น
จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีผลผลิตทางวิชาการในแง่การตีพิมพ์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่การสร้างเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ที่นำไปสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ผ่านการจดสิทธิบัตรนั้น ยังมีจำกัดและเติบโตในอัตราที่น้อยกว่ามาก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงมีเสียงเรียกร้องให้นักวิจัย สร้างผลงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันอุดมศึกษาของไทย ถูกคาดหวังให้ทำงานวิจัยตอบโจทย์ประเทศ นำไปสู่การใช้งานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงแก้ปัญหาชุมชนในท้องถิ่นได้จริง
ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติก็คือ รายได้จากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสะท้อนการนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ หลายมหาวิทยาลัยก็ผลักดันเรื่องนวัตกรรม นำไปสู่การบ่มเพาะสร้าง “สตาร์ตอัป” โดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัย นอกเหนือไปจากมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีสถาบันวิจัยของรัฐ ที่มีนักวิจัยเต็มเวลาและได้รับเงินอุดหนุนของรัฐ สถาบันวิจัยอิสระ หรือภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิ หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ขอรับเงินอุดหนุนวิจัยจากภาครัฐเพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะต่างๆ อีกหลายแห่ง
ในการปฏิรูปการอุดมศึกษาที่ผ่านมา มีการรวมศูนย์ทำให้เกิดกองทุนส่งเสริมวิจัยที่มีขนาดใหญ่ แต่กลไกการบริหารจัดการระบบวิจัย มีความสลับซับซ้อน เพราะเรามีหน่วยงานจำนวนมากในระบบ ทั้งหน่วยงานนโยบาย หน่วยงานจัดสรรทุน หน่วยงานวิจัย และหน่วยงานส่งเสริมการนำไปใช้ประโยชน์
ทุกปีจะมีการเปิดให้ขอรับทุนส่งเสริมวิจัยและพัฒนา และงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการเสนอจาก “นักวิจัย” แบบล่างขึ้นบน มากกว่าจะเป็นการกำหนดโจทย์ที่ท้าทายจากภาคอุตสาหกรรมหรือจากนโยบายของประเทศ
คำถามคือ หากคาดหวังให้งานวิจัยนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง การบริหารจัดการระบบวิจัยควรจะต้อง “ปรับเปลี่ยน” อย่างไร บางที อาจจะต้องเริ่มจากการปรับบทบาทและความคาดหวังที่มีต่อหน่วยงานในระบบวิจัยเสียก่อน
ภารกิจหลักในอดีตของมหาวิทยาลัยคือการผลิตบุคลากรระดับสูงให้กับประเทศ แต่การวิจัยและพัฒนา ได้กลายมาเป็นภารกิจหลักที่สอง เพราะคณาจารย์ ต้องมีองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าเท่าทันในศาสตร์ของตน จึงต้องสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่สามารถตีพิมพ์และอ้างอิงถึงในระดับนานาชาติได้
ดังนั้น มหาวิทยาลัยยังคงต้องเน้นงานวิจัยพื้นฐาน สร้างองค์ความรู้ทางวิชาการที่ก้าวหน้า เพื่อให้เชื่อมโยงและแข่งขันได้ในระดับโลก เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการของประเทศ
แต่ในยุคที่ประสบการณ์ในการนำความรู้ไปใช้งานจริงมีความสำคัญ ไม่ไปน้อยกว่าความรู้ทางวิชาการในตำรา คณาจารย์ก็ต้องทำงานบริการวิชาการหรืองานวิจัยประยุกต์เพื่อสาธิตความเป็นไปได้หรือนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ด้วย
สถาบันวิจัยของรัฐ ที่มีนักวิจัย “เต็มเวลา” และมีภารกิจหลักคืองานวิจัยนั้น ต้องเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อ “ส่งต่อ” ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ควรทำงานวิชาการแข่งกับมหาวิทยาลัย หรือทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชน
ในการวัดผลการดำเนินงาน ควรพิจารณาจากจำนวนผลงานวิจัยที่มีการต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์หรือนำไปใช้จริงเท่านั้น ทั้งนี้ โจทย์ต้องเริ่มมาจากความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือสังคม ไม่ใช่มาจากนักวิจัยเป็นหลัก
นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้เกิด การสร้างศูนย์เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในระดับประเทศ โดยมุ่งเป้าเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมหรือสถาบันวิจัยระดับโลก ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องสร้างหน่วยงานใหม่ อาจใช้วิธีการส่งเสริมสถาบันวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาหรือของรัฐที่มีอยู่ ที่มีความเข้มแข็งในด้านนั้นๆ
ทั้งนี้ ต้องกำหนดให้ศูนย์ดังกล่าว สร้างเครือข่ายวิจัยที่มีความยั่งยืน โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและให้ทุนวิจัยร่วมกับภาคเอกชน
ส่วนหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนนวัตกรรม ควรจะเน้นการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งไม่มีกำลังที่จะทำงานวิจัยและพัฒนาด้วยตนเอง นั้น นำผลงานวิจัยไปใช้หรือสร้างนวัตกรรมเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตหรือการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ
หากเราเห็นภาพของผู้เล่นในระบบแล้ว บทบาทของหน่วยงานจัดสรรทุนวิจัย ก็ควรจะปรับเปลี่ยนจากการเน้นกลไกการให้ทุนตามผลผลิตที่คาดหวัง ไปสู่ การมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมโดยการสร้างองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ ที่จะยกระดับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมให้ได้
ท้ายสุดแต่สำคัญที่สุด คือ ภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยที่แท้จริง ต้องมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดโจทย์วิจัยด้วย จึงจะมีโอกาสนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงครับ.