‘เสียวหมี่’ เสี่ยงขาดทุน 3 แสนบาทต่อคัน ท่ามกลาง R&D อีวีจีนพุ่ง ซ้ำต้องขายถูกให้คนซื้อ
‘ตลาดอีวีจีน’ ร้อนระอุ ผู้ผลิตรายใหญ่ต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งลดราคาและเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า แต่การแข่งขันที่รุนแรงนี้กลับส่งผลให้หลายบริษัทประสบปัญหาขาดทุนจากต้นทุนการวิจัยและพัฒนาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะแบรนด์รถ ‘Xiaomi’ อาจขาดทุนสูงถึง 3 แสนบาทต่อคัน
KEY
POINTS
- Xiaomi มีแนวโน้มขาดทุนสุทธิในธุรกิจรถอีวีสูงถึง 19,000 ล้านบาท โดยอิงจากปริมาณการผลิตที่คาดการณ์ไว้ที่ 60,000 คันในปี 2024 ซึ่งหมายความว่าขาดทุนราว 3 แสนบาทต่อคัน
- Xpeng รายงานขาดทุนสุทธิราว 6,000 ล้านบาทสำหรับไตรมาสที่สองของปี 2024
- ในปัจจุบันมี “BYD” และ “Li Auto” เพียงสองเจ้าที่ทำกำไรจากการขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ ทำให้ผู้ผลิต EV จีนรายอื่น ๆ อีกประมาณ 50 รายขาดทุน
ท่ามกลางอุตสาหกรรม “รถยนต์ไฟฟ้าจีน” ที่ขับเคี่ยวกันอย่างรุนแรงจนเหลือไม่กี่เจ้า จากเดิมจีนเคยมี บริษัทรถ EV มากเกือบ 500 รายเมื่อปี 2562 แต่ปัจจุบันกลับเหลือรอดเพียงราว 100 รายเท่านั้น แน่นอนว่าเจ้าที่เหลืออยู่คงต้องสู้ต่อไป เร่งพัฒนาโมเดลรถให้เหนือชั้นกว่าคู่แข่งอื่น ๆ
แต่ในยุคนี้ ลำพังสมรรถนะรถอย่างเดียวกลับเอาไม่อยู่แล้ว ผู้บริโภคต้องการราคาที่จับต้องง่ายด้วย ประกอบกับงบประมาณในการวิจัยและพัฒนารถก็ทะยานขึ้น กลายเป็นว่าผู้ผลิตอีวีจีนกำลังเผชิญแรงบีบคั้นที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ จากทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือต้นทุนวิจัยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่อีกด้านก็ขายแพงขึ้นไม่ได้
เดวิด จาง (David Zhang) เลขาธิการสมาคมวิศวกรรมยานยนต์อัจฉริยะระหว่างประเทศมองว่า “รถโมเดลใหม่เคยช่วยเพิ่มยอดขายของผู้ผลิตรถ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ‘การลดราคา’ ที่พิสูจน์แล้วว่าดึงดูดผู้ซื้อได้ เพื่อความอยู่รอดในตลาดที่มีการแข่งขันสูงหรือ ‘โหดร้าย’ บริษัทเหล่านี้ต้องยอมลดราคาลงอีกหรือลดต้นทุน เพื่อสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้”
Xiaomi เสี่ยงขาดทุน 3 แสนบาทต่อคัน
สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า ในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ เริ่มจากรถ “Xiaomi SU7” ของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่าง Xiaomi ที่หันมาลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในรุ่นที่ขายดีที่สุด โดยมีการขายไปแล้ว 27,307 คันในไตรมาสที่สองให้กับลูกค้าในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งรถรุ่นนี้มีราคาเริ่มต้นที่ 215,900 หยวน (ราว 1 ล้านบาท)
- Xiaomi SU7 (เครดิต: Xiaomi) -
อย่างไรก็ตาม Xiaomi กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า หน่วยธุรกิจรถอีวีของบริษัทคงใช้เวลาประมาณหนึ่งในการสร้างผลกำไร เนื่องจากเผชิญค่าใช้จ่ายมหาศาลสำหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมถึงต้นทุนการตลาด
ทั้งนี้ ธนาคาร Citigroup ประมาณการว่า Xiaomi มีแนวโน้มขาดทุนสุทธิในหน่วยธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าสูงถึง 4,100 ล้านหยวน หรือราว 19,000 ล้านบาท โดยอิงจากปริมาณการผลิตที่คาดการณ์ไว้ที่ 60,000 คันในปี 2024 ซึ่งหมายความว่าอาจขาดทุน 68,000 หยวนหรือราว 3 แสนบาทต่อคัน
ค่า R&D ของ BYD สูงกว่ากำไรสุทธิถึง 48.5%
ด้าน BYD รถยนต์ไฟฟ้าแถวหน้าของจีน กล่าวในรายงานผลประกอบการในปลายเดือนสิงหาคมว่า ต้นทุนวิจัยและพัฒนารถของบริษัทเพิ่มขึ้น 41.6% จากปีที่แล้ว เป็น 20,200 ล้านหยวน ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของรายได้ปีต่อปีที่ 15.8% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาของ BYD นี้ ยังสูงกว่ากำไรสุทธิในครึ่งแรกที่ 13,600 ล้านหยวนถึง 48.5%
ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในไตรมาส 2 อยู่ที่ 18.7% ซึ่งลดลง 3.2 จุดเปอร์เซ็นต์จากไตรมาสก่อนหน้า
“BYD ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ ประสบความสำเร็จในการเพิ่มยอดขายและการส่งมอบ แต่ต้องแลกมากับความสามารถในการทำกำไร” อิวาน ลี (Ivan Li) ผู้จัดการกองทุนจาก Loyal Wealth Management ในเซี่ยงไฮ้กล่าว “ส่วนคู่แข่งในประเทศของ BYD อาจไม่สามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นผ่านการเปิดตัวรุ่นใหม่ได้ เนื่องจากเผชิญต้นทุนการวิจัยและพัฒนาที่สูง”
Xpeng ขาดทุนสุทธิ 6,000 ล้านบาท
Xpeng Mona M03 รถยนต์ซีดานไฟฟ้าล้วน เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดารุ่นใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า โดยได้รับคำสั่งซื้อมากกว่า 30,000 คัน ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม
- Xpeng Mona M03 (เครดิต: Xpeng) -
ถึงกระนั้นก็ตาม Xpeng รายงานขาดทุนสุทธิ 1,280 ล้านหยวน หรือราว 6,000 ล้านบาทสำหรับไตรมาสที่สองของปี 2024 ลดลง 6.6% จากการขาดทุน 1,370 ล้านหยวนในสามเดือนก่อนหน้า
ในปัจจุบันมี “BYD” และ “Li Auto” เพียงสองเจ้าที่ทำกำไรจากการขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ ทำให้ผู้ผลิต EV จีนรายอื่น ๆ อีกประมาณ 50 รายขาดทุน
ในเดือนเมษายน Goldman Sachs ประมาณการว่า ความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรม EV ทั้งหมดของจีนอาจกลายเป็นลบในปีนี้ หาก BYD ลดราคาของรถยนต์ลงอีก 7% หรือ 10,300 หยวน
Suolei บริษัทที่ปรึกษาในเซี่ยงไฮ้คาดการณ์ว่า มีรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรุ่นใหม่กว่า 50 รุ่นเข้าสู่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ในปีนี้ “แต่มีเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้น” ที่จะสร้างยอดขายเพียงพอสำหรับชดเชยค่าใช้จ่ายในการพัฒนารถ
ด้านอีริค หาน (Eric Han) ผู้จัดการอาวุโสของ Suolei กล่าวว่า “ผู้ผลิตรถอีวีจำเป็นต้องถามตัวเองว่า คุ้มค่าหรือไม่ที่จะลงทุนหลายพันล้านหยวนในการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ที่ไม่สามารถสร้างยอดขายที่น่าพอใจได้ เว้นแต่จะเสนอส่วนลดที่สูง” “ท้ายที่สุด ตลาดก็เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันอยู่แล้ว และบางส่วนอาจไม่รอด จนถูกผลักออกจากตลาดไป”