อาเซียนใช้ AI โตอันดับ 4 ของโลก มูลค่าซื้อขายแตะ 5 แสนล้าน

อาเซียนใช้ AI โตอันดับ 4 ของโลก มูลค่าซื้อขายแตะ 5 แสนล้าน

“กระทรวง อว. - ว.นวัตกรรม ธรรมศาสตร์ - IACIO” หนุนไทยพร้อมใช้ AI ขับเคลื่อนประเทศ  ดึงความร่วมมือองค์กรระดับโลก สู่หัวเรือใหญ่จัดประชุม “IACIO 2024” พร้อมเผยสัญญาณอาเซียนใช้ AI โตอันดับ 4 ของโลก มูลค่าซื้อขายแตะ 5 แสนล้าน

KEY

POINTS

  • คาดว่าภายในปี 2573 อาเซียนจะมีการใช้ AI ขับเคลื่อนธุรกิจเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 เท่า มูลค่าการซื้อขาย สูงถึง 500,000 ล้านบาท
  • การปรับตัว และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ และการพัฒนาธุรกิจในทิศทางที่ยั่งยืน
  • ตอนนี้มหาวิทยาลัยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ AI เพื่อการศึกษาได้  แต่ควรจะเป็นการใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม และใช้เพื่อประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดผลในทางที่เสียหาย

AI หรือปัญญาประดิษฐ์”  ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของผู้คนอย่างมาก เป็นนวัตกรรมที่หลายภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมได้นำมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น  ส่งผลให้ AI ผลักดันธุรกิจให้มีความยั่งยืน และเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการผลิต การแพทย์ การเงิน และการขนส่ง

“งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติประจำปี 2024 หรือ IACIO 2024 Annual Conference ภายใต้หัวข้อ “AI Applications and Transformation”  จัดโดยวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CITU) ร่วมกับ International Academy of CIO (IACIO)  ซึ่งได้มีการระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญสารสนเทศทั่วโลก เพื่อเสนอแนวทางการรับมือกับความท้าทายการใช้ AI พร้อมเจาะลึกสัญญาณ แนวโน้ม และโอกาส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รู้ไว้ก่อนที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ AI เรื่องสุขภาพ

ส่องระบบ ‘สาธารณสุข’ อนาคต ‘เอไอ-นวัตกรรม’ หนุนบริการ

มธ.พัฒนา AI หนุนธุรกิจยั่งยืน

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะด้านการศึกษา การแพทย์ การเงิน การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “IACIO 2024 Annual Conference” ในหัวข้อ “AI Applications and Transformation” ซึ่งปีนี้ วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ ได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพนั้น ถือมีความสำคัญอย่างมาก

“การที่วิทยาลัยนวัตกรรม มธ.ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนา AI ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการปรับตัว และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ ๆ และการพัฒนาธุรกิจในทิศทางที่ยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศ ต่อยอดไปถึงการประยุกต์ใช้ในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการ และทิศทางการพัฒนาในอนาคต”อธิการบดี มธ. กล่าว

 

 

สัญญาณอาเซียน AI โตอันดับ4

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า ได้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาคที่มีการใช้ AI ในการขับเคลื่อนธุรกิจเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยคาดว่าความต้องการด้านเทคโนโลยี AI ในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 เท่า ระหว่างปี พ.ศ.2570 - 2580 ส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในภูมิภาค โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับ AI จะสูงถึงประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจท้องถิ่นในการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี และสร้างมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าว ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้นำองค์กรด้านสารสนเทศจากทั่วโลกมาร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนการรับมือกับความท้าทาย และการใช้เทคโนโลยี AI ในภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐบาล

นักศึกษาทุกหลักสูตรต้องมีทักษะ AI

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวต่อไปว่า มธ.มีการดำเนินการเรื่องของ AI มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเริ่มแรกจะเป็นการกำหนดการใช้ AI โดยพิจารณาเรื่องการเข้าข่ายทุจริตหรือจริยธรรมเป็นหลัก และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มธ.ได้มีการผลักดันการนำ AI มาใช้ในมหาวิทยาลัยผ่านร่างระเบียบของมหาวิทยาลัย โดยเบื้องต้นจะมีการกำหนดสัดส่วนการใช้ AI ในการเรียน การค้นคว้า ตามที่อาจารย์แต่ละคณะ สาขากำหนด  คาดว่าจะประกาศใช้ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังจากนี้   

“ตอนนี้มหาวิทยาลัยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ AI เพื่อการศึกษาได้  แต่ควรจะเป็นการใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม และใช้เพื่อประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดผลในทางที่เสียหาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่สำคัญของมหาวิทยาลัยในการนำ AI  มาใช้ และนักศึกษา มธ. ไม่ใช่เพียงเป็นผู้ใช้ AI เท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้พัฒนา AI ร่วมด้วย โดยเชื่อมโยงทั้งเรื่อง AI และ Big Data เข้าด้วยกัน อีกทั้ง ธรรมศาสตร์จะขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน และภาครัฐ ในการพัฒนาหลักสูตรอันนำไปสู่การผลิตบัณฑิต หรือคนวัยทำงาน ที่มีทักษะด้าน AI” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว

AI มีข้อจำกัด แทนคนไม่ได้ทุกเรื่อง

ทั้งนี้  AI เพื่อการศึกษาของ มธ. มีการขับเคลื่อนใน 3 ส่วน  คือ  

  • ส่วนแรก AI เพื่อสนับสนุนนักศึกษาในการเรียนรู้ มีการจัดหาเครื่องมือในการใช้ AI ให้แก่นักศึกษา อาทิ การใช้  ChatGPT  ใช้ได้
  • ส่วนที่ 2  AI For Teacher  เป็นการใช้ AI ในกลุ่มของอาจารย์
  • ส่วนที่ 3  AI  สำหรับการบริหารมหาวิทยาลัย การจัดสรรทรัพยากรต่างๆ  เช่น สำนักทะเบียนนักศึกษา มธ. สามารถตรวจสอบผลการเรียนของนักศึกษา หรือการลงทะเบียนเรียนๆ เป็นต้น

 รวมถึงการใช้ AI ช่วยเรื่องซึมเศร้าที่จะเกิดขึ้นกับนักศึกษา  เป็นการนำ AI มาช่วยดูแลสุขภาพกาย และจิตใจของนักศึกษา ด้วยการใช้ข้อมูลสุขภาพอย่างระมัดระวัง เพื่อดูว่านักศึกษา เกือบหมื่นกว่าคนที่มีการกรอกข้อมูลเกี่ยวข้องกับตัวคน ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้น แต่

ข้อมูลที่นักศึกษากรอกนั้น ต้องมีการตรวจสอบในด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะ AI มีข้อจำกัด และAI ไม่สามารถแทนคนทุกเรื่อง การผลิตบัณฑิตให้มีทักษะด้าน AI ใช้ AI  ได้ เชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยดำเนินการเรื่องนี้ แต่ มธ. จะเป็นการผลิตคนที่ใช้ AI อย่างเหมาะสม ทั้งด้านความถูกต้อง ถูกหลักจริยธรรม และมี AI บาลานซ์ เพราะทุกวันนี้ทุกคนใช้แต่ AI ทำให้ขาดสมดุล

"นักศึกษา มธ. ทุกสาขา ทุกคณะจะต้องมีทักษะ AI โดยจะเปิดให้นักศึกษาได้เลือกเรียน เลือกเก็บสะสมหน่วยกิต เช่นเดียวกับคนวันทำงาน หรือผู้ที่สนใจจะเรียน AI ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเพิ่มเติม และจะมีการขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการผลิตกำลังคนด้าน AI รองรับตลาดแรงงานที่มีความต้องการสูงมาก” อธิการบดี มธ. กล่าว

ไทยอยู่อันดับที่ 19 รัฐบาลดิจิทัล 

ศ.ดร.โทชิโอะ โอบิ จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวเสวนาพิเศษหัวข้อ “การจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัล” ว่า การจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัลมีมานานกว่า 19 ปีแล้ว โดยเริ่มแรกมีตัวชี้วัดด้านการใช้อินเทอร์เน็ต และเพิ่มตัวชี้วัดขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันเพิ่มเติมเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ การใช้ AI

 สำหรับการจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 19 ปี 2024 พบว่า  20 อันดับแรกมีประเทศในอาเซียน 2 ประเทศคือ สิงคโปร์ ซึ่งได้รับอันดับที่ 1 และประเทศไทย ได้อันดับที่ 19 แสดงให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนี้ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม เล็งเห็นว่าควรมีการจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัลต่อไป ซึ่งคาดหวังว่าต่อไปรัฐบาลดิจิทัลจะได้รับการยกระดับเป็นรัฐบาล AI มีการนำเทคโนโลยีเอไอมาช่วยจัดการแก้ปัญหาด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งมีการพัฒนาคนรองรับเทคโนโลยีในอนาคตด้วย

ผลักดันเอกชน รัฐ สถาบันการศึกษาอัพAI

ด้าน น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)กล่าวว่า อว.ได้มีการผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในด้านต่างๆ ซึ่งในส่วนของ มธ.นั้น จะรับผิดชอบเรื่องของ AI ด้านนวัตกรรม ฉะนั้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยี AI ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์ที่ดีในเชิงปฏิบัติ

ทั้งนี้ การร่วมมือในการประชุมหารือ IACIO ครั้งนี้จะช่วยกำหนดทิศทาง และเป้าหมายการพัฒนา AI ของประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสในการประสานพลังร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดสรรทรัพยากร ทั้งบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณ ที่จะต้องตอบสนองต่อความต้องการ และความเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล

เล็งสร้างกลยุทธ์นำเทคโนโลยีไปใช้อย่างมีคุณค่า

ดร. ฌอง-ปิแอร์ อัฟเฟรต ประธานกรรมการ IACIO กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่ IACIO เป็นสมาคมของ CIO ระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารสนเทศจากทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริม และสนับสนุนการใช้มุมมองของ CIO ในการปรับเปลี่ยน และนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรในยุคดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีการก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และซับซ้อน จนทำให้การบริหารจัดการองค์กรจำเป็นต้องอาศัยแนวทางใหม่ๆ ที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้ CIO สามารถตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“บทบาทของ CIO จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ในการสร้างกลยุทธ์ที่จะช่วยให้เทคโนโลยีถูกนำไปใช้อย่างมีคุณค่า และมีประสิทธิผลสูงสุด การเตรียมความพร้อมด้านทักษะความรู้ และการเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัย รวมถึงกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ IACIO เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมุ่งมั่นที่จะมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับ CIO ทั่วโลก เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างยั่งยืน ทั้งในด้านประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และความยั่งยืนในการเติบโตในระยะยาว” ประธานกรรมการ IACIO กล่าว

นอกจากนี้ การกำหนดบทบาทของกลุ่ม CIO (Chief Information Officer) ในโลกยุคใหม่ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะถูกนำเสนอในงานประชุมครั้งนี้ เรามีความตั้งใจที่จะเน้นย้ำถึงบทบาทที่เหมาะสมในการนำ AI มาใช้งานในองค์กรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในด้านการจัดการ และการกำกับดูแลให้ AI ถูกใช้ในขอบเขตที่ชัดเจน มีความโปร่งใส และเป็นที่ยอมรับตามหลักการที่เหมาะสม การใช้งาน AI ที่มีกำกับดูแลอย่างถูกต้องจะช่วยให้องค์กรมั่นใจได้ว่า AI ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ยังสอดคล้องกับมาตรฐานด้านจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม

โดยมีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งเป็นการประเมินเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคและระดับโลก โดยข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการของภาครัฐในอนาคต เนื่องจากสามารถช่วยให้เรามองเห็นแนวโน้มในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงการทำงานของทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดรับกับความคาดหวังและความต้องการของประชาชนในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการนำ AI ไปใช้ในภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ความกังวลด้านความปลอดภัยข้อมูล ความเป็นส่วนตัว รวมถึงข้อกำหนดทางกฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอสำหรับการควบคุม และกำกับดูแลการใช้งาน AI โดยมีนโยบายการพัฒนาทักษะบุคลากร และสร้างความโปร่งใสในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ

ขณะที่ แนวทางการสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพ (Professional Network) เครือข่ายวิชาชีพที่เข้มแข็งจะช่วยให้บุคลากรจากภาคส่วนต่าง ๆ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในการนำ AI ไปใช้ในองค์กรได้อย่างเหมาะสม

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์