AI สำหรับองค์กรในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว
จากบทสรุปของปีที่ผ่านมา GDP ของไทยโตเกือบต่ำที่สุดเป็นลำดับที่ 9 จาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยหลายศูนย์วิจัยคาดการณ์ต่อว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราขยายตัวต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเสียอีกจากทั้งปัจจัยภายนอก
เช่น นโยบายการค้าของคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน และจากปัจจัยภายใน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับ 90% ของ GDP ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคลที่นำมาใช้แล้วหมดไป ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือการลงทุนเพื่ออนาคต ทำให้การบริโภคในประเทศและการใช้จ่ายจริงอยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางสภาวะนี้ธุรกิจจึงต้องปรับตัวและบริหารจัดการความเสี่ยงให้รอบคอบ
ในปีที่ผ่านมาผมได้ประยุกต์ใช้งาน AI จนกลายเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานต่างๆ ได้ถึง 70% หรือเพิ่ม Productivity โดยรวมกว่า 3 เท่า! AI ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ช่วยแก้ไขปัญหา-ช่วยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายองค์กร ทั้งด้านของเวลาและความสมบูรณ์ของงาน มาดูกันครับ ว่าแนวทางที่องค์กรจะสามารถนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในสถานการณ์ที่ต้องท้าทายในปีนี้ มีอย่างไรบ้าง
1. Monitor & Predict Key Indicator: ติดตามและคาดการณ์ตัวชี้วัดสำคัญให้เร็วที่สุด
ในยุคที่ผ่านมาหลายองค์กรได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อให้ได้ Data ที่มีคุณภาพ จนไปถึงการทำ Business Intelligence (BI) หรือ Dashboard ที่รวบรวมตัวเลขสำคัญ ทั้งตัวเลขยอดขาย ต้นทุน ข้อมูลสินค้า-สาขา-พนักงาน-ลูกค้า ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริหารในระดับต่างๆ มีตาที่สามารถมองเห็นสถานการณ์และตัดสินใจได้บนพื้นฐานของ Data ที่เกิดขึ้นจริง
พอได้ AI มาผสานกับ BI จนไปถึงการเชื่อมข้อมูลกับระบบต่างๆ ภายในองค์กร เช่น ERP WMS CRM จากเดิมที่ในการตัดสินใจเรื่องหนึ่งอาจต้องดูตัวเลขจาก 3-4 Dashboard ประกอบกัน เช่น สินค้าใดขายดี ควรผลิตหรือสั่งมาสต็อกจำนวนเท่าไร ถึงจะของไม่ขาดไม่เกิน จนไปถึงการวิเคราะห์เจาะลึก เช่น เหตุใดทำไมสินค้านี้ถึงขายดี จะต่อยอดส่งเสริมการขายอย่างไรในสัปดาห์หน้า จะรักษาฐานลูกค้าได้อย่างไรในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จนไปถึงกระบวนการใดในองค์กรที่ผู้บริหารควรเข้าไปดูรายละเอียดเป็นพิเศษ ซึ่ง AI ที่ได้รับการเทรนด้วยข้อมูลและตรรกะวิธีคิดจากผู้บริหารของแต่ละองค์กรสามารถรวบรวมและวิเคราะห์ เพื่อให้ทางเลือกพร้อมคาดการณ์ผลกระทบจากการตัดสินใจในแต่ละแนวทางด้วยเวลาเพียงไม่ถึงนาที
2. AI-Driven Process Redesign: ออกแบบกระบวนงานระหว่างคนและเครื่องมือ AI
ในยุคที่องค์การต้องใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุด สำหรับกิจกรรมและกระบวนการที่พบว่ามีปัญหา หรือพบโอกาสที่สามารถปรับปรุงได้ ไม่ว่าจะเป็น
- ฝ่ายขาย: ติดต่อประสานงานกับลูกค้าและเพิ่มโอกาสการขาย
- ฝ่ายบริการลูกค้า: ตอบคำถามและค้นหาข้อมูลจากรูปที่ลูกค้าถ่ายส่งมา
- ฝ่ายการตลาด: สร้างคอนเทนต์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่
- ฝ่ายผลิต: วางแผนผลิตและเลือกใช้วัตถุดิบ-ทรัพยากรที่มีจำกัด
- ฝ่ายจัดส่ง: จัดตารางและเส้นทางเดินรถ
- ฝ่ายบัญชี: สรุปและวิเคราะห์ข้อมูลการเงิน
- ฝ่ายกฎหมาย: ตรวจสัญญา ร่างสัญญา
รวมถึงกรณีการจัดการวิกฤต (Crisis Management) ที่ต้องมีการคาดการณ์และแจ้งเตือนล่วงหน้า การสื่อสาร การจัดการข้อมูล และการตัดสินใจที่รวดเร็ว เทคโนโลยี AI ในปัจจุบันสามารถนำมาปรับใช้เพื่อช่วยในการทำงานของผู้บริหารและพนักงานในแต่ละแผนกให้รวดเร็วขึ้น เพิ่มเวลาให้พนักงานสามารถมุ่งเน้นงานที่ต้องใช้ความคิดเชิงลึกและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
3. Reshaping Human Resource Strategies: ปรับกลยุทธ์พัฒนาทรัพยากรบุคคล
ผมยืนยันว่าการทำงานที่ผสานรวมระหว่างมนุษย์และ AI อย่างเหมาะสม ได้ผลลัพธ์ดีกว่าการใช้ AIทำงานแทนมนุษย์แน่นอน ดังนั้นกลยุทธ์ในการรักษาและเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรบุคคลในยุคนี้ รวมถึงการใช้ AI เพื่อสนับสนุนและยกระดับทักษะของบุคลากร จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและความยืดหยุ่นขององค์กรในยุคที่ต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและต้องปรับทิศทางตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาให้รวดเร็วกว่าเดิม
วันนี้ นอกจากองค์กรธุรกิจที่ต้องใช้เครื่องมือ AI ให้เป็น “พันธมิตรเชิงกลยุทธ์” เพื่อปรับตัวและวิ่งได้ทันแล้ว องค์กรของรัฐเองก็ต้องปรับตัว เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนได้ทันเช่นกัน ในบทความครั้งหน้า ผมจะมาแชร์ถึงแนวทางและการประยุกต์ใช้สำหรับภาครัฐในมิติต่างๆ ครับ