สวทช.ประชุมวิชาการประจำปี ขับเคลื่อนวิทย์ฯ และเทคโนโลยีด้วย AI

สวทช. จัดงานประชุมวิชาการประจำปี NAC2025 ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน โชว์ผลงาน 5 ศูนย์วิจัยสร้างผลกระทบในวงกว้าง
(27 มีนาคม 2568) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2568 (NSTDA Annual Conference 2025 : NAC2025) การประชุมจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” (AI-driven Science and Technology for Sustainable Thailand”
เพื่อเผยแพร่ความรู้และผลงานวิจัย สร้างความตระหนัก สร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI โดยมุ่งเน้นการนำเสนอความก้าวหน้าและผลกระทบของเทคโนโลยี AI ต่อการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กราบบังคมทูลรายงานว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวง อว. ที่ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534
จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 34 ปี โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้แผนงานการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Science and Technology Implementation for Sustainable Thailand)
ในปีงบประมาณ 2567 สวทช. พัฒนางานวิจัยเชิงรุกที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง โดยมีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 8 ล้านคน ครอบคลุมหน่วยงานกว่า 40,000 แห่ง
สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 20,000 ล้านบาท และส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการผลิตและบริการกว่า 3,600 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการอบรมพัฒนาเกษตรกรไทยกว่า 10,000 คน
ด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ สวทช. มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 724 บทความ คำขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 247 คำขอ และได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ 78 รางวัล
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่เยาวชนกว่า 10,000 คน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลรายงานว่า ปีนี้ สวทช. นำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาด้าน AI และการบูรณาการกับศาสตร์แขนงต่าง ๆ
ภายใต้การดำเนินงานของ 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ได้แก่ BIOTEC, MTEC, NECTEC, NANOTEC และ ENTEC เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน
ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านผลงานวิจัยของ สวทช. ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและผลงานเด่นของ สวทช. จำนวน 11 บูท ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร
ผลงานวิจัยของ สวทช. กว่า 100 บูท รวมถึงบูทจากหน่วยงานพันธมิตรอีก 40 บูท ทั้งหมดนี้มุ่งเน้นการพัฒนา AI เพื่อเพิ่มศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของประเทศ
สวทช. ยังได้จัดสัมมนาวิชาการกว่า 35 หัวข้อ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์
ขณะเดียวกัน ในส่วนของกิจกรรม OPEN HOUSE ได้จัดเส้นทางพิเศษ 9 เส้นทาง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงห้องปฏิบัติการวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ รวมถึงกิจกรรมพิเศษสำหรับเด็กและเยาวชนที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้าน AI
นิทรรศการความก้าวหน้างานวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. อาทิเช่น
Hydrogen Economy และบทบาทของ สวทช. ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจน
สวทช. โดย ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ได้พัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนแบบองค์รวม เช่น ไฮโดรเจนชีวภาพ (Biohydrogen) ที่ผลิตจากก๊าซชีวภาพ ของเสียทางการเกษตร น้ำเสีย หรือชีวมวล ซึ่งช่วยลดของเสียและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน
อีกทั้งยังศึกษาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) จากกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด
งานวิจัยนี้สอดคล้องกับแนวทาง BCG Economy และสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน การขนส่ง และยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์
ปัจจุบัน ENTEC สวทช. กำลังขยายกำลังการผลิตและร่วมมือกับสมาคมไฮโดรเจนประเทศไทย รวมถึงบริษัทเอกชน เช่น โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส เพื่อผลักดันการใช้งานจริงอย่างต่อเนื่อง
การยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยการแพทย์จีโนมิกส์
การแพทย์จีโนมิกส์เป็นแนวทางการรักษาสมัยใหม่ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมของแต่ละบุคคลในการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างแม่นยำ ลดการลองผิดลองถูกและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 - 2567 โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำด้านนี้ในอาเซียน และให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง โดยมุ่งเน้นใน 5 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ โรคหายาก โรคมะเร็ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และเภสัชพันธุศาสตร์
สวทช. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลขนาดใหญ่ เชื่อมโยงข้อมูลจีโนมให้แพทย์นำไปใช้จริง กระจายโอกาสทางการแพทย์สู่ภูมิภาค และเสริมศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุข
เทคโนโลยีนี้ช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษา ป้องกันโรคล่วงหน้า และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยวางแผนการมีบุตรที่ปลอดภัย
ด้วยการสนับสนุนจาก สวทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้จะช่วยให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการแพทย์จีโนมิกส์ในภูมิภาค และสร้างระบบสาธารณสุขที่ทันสมัยเพื่อประชาชน
ข้าวสายพันธุ์ใหม่กับการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตข้าวพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ดำเนินโครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ผ่านการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ 6 สายพันธุ์ ควบคู่กับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามมาตรฐาน GAP Seed
เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ต่อไร่ และสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไว้ใช้เองได้
โดยมีเกษตรกรเป้าหมาย 510 ราย จาก 11 กลุ่ม ในพื้นที่ อ.ท่าตูม และ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ และ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม โครงการนี้ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่ พัฒนาแปลงต้นแบบผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และขยายโอกาสทางการตลาดผ่านข้าวสายพันธุ์ใหม่
เช่น หอมสยาม 2 ที่ให้ผลผลิตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับพันธุ์เดิม รวมถึงข้าวสีโภชนาการสูงอย่าง นิลละมุน แดงจรูญ และไรซ์เบอร์รี่ 2 ที่ตอบโจทย์ตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ
นอกจากนี้ โครงการยังพัฒนาเกษตรกรต้นแบบที่สามารถตรวจสอบแปลงนาและผลิตข้าวคุณภาพสูงได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับการปลูกข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ทั้งในด้านผลผลิต คุณภาพ และความสามารถในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร
งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 มีนาคม 2568 เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานของบุคลากรวิจัย เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกันกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
ภายในงานยังมีกิจกรรม NAC Market 2025 ตลาดนัดจำหน่ายสินค้านวัตกรรมจากงานวิจัย รวมถึงสินค้าชุมชนจากเครือข่าย สวทช. ในราคาพิเศษ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรีตลอดงาน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี