อว.ร่วมกับ มจพ.ส่ง "หุ่นยนต์กู้ภัย-โดรน" เข้าพื้นที่ ตึก สตง.ถล่ม

อว.ร่วมกับ มจพ.ส่ง "หุ่นยนต์กู้ภัย-โดรน" เข้าพื้นที่ ตึก สตง.ถล่ม

กระทรวง อว. ร่วมกับ มจพ. ส่งทีมหุ่นยนต์กู้ภัย “iRAP Robot” และเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เข้าพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯตึก สตง.ถล่ม

“iRAP Robot” มีความคล่องตัวสูง เหมาะสำหรับการเข้าถึงพื้นที่แคบหรือซอกมุมต่างๆ พร้อมติดตั้งเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดระดับออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ

ลเมื่อวันที่ 28 มี.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) นำทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. แชมป์โลก 10 สมัย เข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ กรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง

อว.ร่วมกับ มจพ.ส่ง \"หุ่นยนต์กู้ภัย-โดรน\" เข้าพื้นที่ ตึก สตง.ถล่ม

โครงการอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง บริเวณ ถ.กำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. เกิดถล่มลงมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมาก

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. ควบคุมโดย รศ.ดร.กิตติชัย ธนทรัพย์สิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. จะนำหุ่นยนต์ฯ สำรวจภารกิจในพื้นที่อาคารถล่มร่วมกับเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและภาคเอกชน 

โดยนำหุ่นยนต์สำรวจ จำนวน 3 ตัว เข้าร่วมภารกิจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติซ้ำซ้อน มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยกู้ภัย และเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงผู้ประสบภัยในสถานการณ์วิกฤติ ได้แก่ 

หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัยและหุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถสร้างแผนที่สามมิติของพื้นที่ และเคลื่อนที่ผ่านสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน เช่น อาคารที่ถล่มหรือพื้นที่จำกัดการเข้าถึง

ข้อมูลที่หุ่นยนต์เก็บรวบรวมได้จะช่วยให้หน่วยกู้ภัยสามารถประเมินสถานการณ์และวางแผนการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อว.ร่วมกับ มจพ.ส่ง \"หุ่นยนต์กู้ภัย-โดรน\" เข้าพื้นที่ ตึก สตง.ถล่ม

หุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก มีจุดเด่นที่ความคล่องตัวสูง เหมาะสำหรับการเข้าถึงพื้นที่แคบหรือซอกมุมต่างๆ พร้อมติดตั้งเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดระดับออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปปฏิบัติงาน 

ในขณะที่ หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัย มาพร้อมแขนกลสำหรับหยิบจับหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของ และมีความสามารถในการเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ต่างระดับ รวมถึงการขึ้นบันไดได้อย่างมีเสถียรภาพ

พร้อมทั้งติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิเพื่อใช้ประเมินสภาวะความร้อนในพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อการวางแผนและตัดสินใจของเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ร่วมปฏิบัติงาน

อว.ร่วมกับ มจพ.ส่ง \"หุ่นยนต์กู้ภัย-โดรน\" เข้าพื้นที่ ตึก สตง.ถล่ม

น.ส.ศุภมาส กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวง อว.จะนำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) จำนวน 2 ตัว เพื่อสนับสนุนภารกิจการสำรวจในครั้งนี้ด้วย

อากาศยานไร้คนขับ DJI Mavic 3 Enterprise ซึ่งเป็นโดรนที่มีศักยภาพสูง มีกล้องที่ให้ความละเอียดสูงและฟังก์ชันการซูมระยะไกล เพื่อใช้ในการสำรวจขอบเขตของความเสียหายจากแผ่นดินไหว 

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะถูกนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อค้นหาผู้ประสบภัย และสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความเสียหายของโครงสร้างอาคาร รวมถึงแนวทางการบูรณะและซ่อมแซมต่อไป

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มุ่งมั่นในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤต และพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง และร่วมกันส่งกำลังใจให้กับทุกท่านที่ประสบภัยในครั้งนี้

สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรใดต้องการให้ มจพ. นำหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าไปให้ความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.กิตติชัย ธนทรัพย์สิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. โทร. 096-829-5353 และ ผศ.ดร.จิรพันธ์ อินเทียม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสนับสนุนเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. โทร.099-023-6920