บ๊อชปั้น ‘นวัตกรเจนใหม่’ ผ่าน Innovision Young Gen เปิดพื้นที่เยาวชนคิดนอกกรอบ

บ๊อช ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ “Innovision Young Gen with Bosch” ส่งเสริมให้เยาวชนไทยคิดค้นและต่อยอดเทคโนโลยีอย่างมีเป้าหมาย ภายใต้แนวคิด “Invented for life” หรือ “เทคโนโลยีเพื่อชีวิต”
โลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเห็นคุณค่าของนวัตกรรมที่มีความหมายและรับผิดชอบต่อสังคมกลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง บ๊อช ประเทศไทย จึงได้เปิดตัวโครงการ “Innovision Young Gen with Bosch” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยคิดค้นและต่อยอดเทคโนโลยีอย่างมีเป้าหมาย ภายใต้แนวคิด “Invented for life” หรือ “เทคโนโลยีเพื่อชีวิต”
กรุงเทพธุรกิจมีโอกาสพูดคุยกับ โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ถึงที่มา เบื้องหลังโครงการนี้ รวมถึงวิสัยทัศน์ของบ๊อชทั้งในระดับประเทศไทยและระดับโลก
ปั้นเยาวชนให้เป็นนักแก้ปัญหา
เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังโครงการ โจเซฟ เล่าวว่า โครงการ Innovision Young Gen with Bosch เกิดจากความเชื่อของบ๊อชที่ว่านวัตกรรมควรรับใช้สังคม ไม่ใช่แค่สร้างของใหม่ๆ สิ่งสำคัญคือการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่คิดสร้างสรรค์ เพราะอนาคตขึ้นอยู่กับคนที่กล้าคิดว่าจะเปลี่ยนโลกได้อย่างไร
“เราอยากให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านปัญหาจริงและเทคโนโลยีจริง เห็นว่านวัตกรรมไม่ใช่แค่สร้างของใหม่ แต่ช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ ไอเดียเล็กๆ ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้” โจเซฟกล่าว
เมื่อพูดถึงความคาดหวังต่อไอเดียที่เด็กๆ ส่งเข้ามา บ๊อชไม่ได้ตั้งความหวังว่าจะต้องมีนวัตกรรมพลิกโลก แต่สนับสนุนให้เด็กๆ นำเทคโนโลยีของบ๊อชที่มีอยู่แล้ว มาต่อยอดหรือประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นหรือระดับโลก แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเข้าใจทั้งเทคโนโลยีและผลกระทบทางสังคมไปพร้อมกัน
“พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าโซลูชันที่มีอยู่แล้วสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดวิธีใหม่ๆ ในการแก้ไขความต้องการที่เร่งด่วนของสังคม บ๊อชต้องการให้เยาวชนเห็นว่านวัตกรรมสามารถมีจุดประสงค์ และแนวคิดของพวกเขา แม้จะเล็กน้อย ก็สามารถมีส่วนร่วมในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าได้” โจเซฟ กล่าว
โครงการนี้ยังเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้แต่ละทีมออกแบบแนวคิดที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด ความปลอดภัยบนท้องถนน หรือเมืองที่ยั่งยืน ช่วยให้เด็กๆ เห็นว่านวัตกรรมสร้างผลลัพธ์จริงเพื่อโลกที่ดีขึ้น
จากที่เห็นมา โจเซฟมั่นใจว่าเด็กไทยมีความคิดสร้างสรรค์ เก่งด้านดิจิทัล และอยากทำประโยชน์ เมื่อได้โอกาสและเครื่องมือที่ดี พวกเขาสามารถสร้างไอเดียที่มีความหมายได้ ดังนั้น โครงการนี้จึงตอกย้ำว่า นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเริ่มในห้องทดลองเสมอไป มันสามารถเริ่มได้จากห้องเรียน ชุมชน หรือแม้แต่เวทีการแข่งขันแบบนี้
แม้ว่าโครงการนี้จะไม่มีการลงพื้นที่หรือเวิร์กช็อปแบบพบหน้า แต่บ๊อชก็เตรียมแหล่งข้อมูลออนไลน์ไว้ให้เด็กๆ ได้ศึกษาเอง เช่น วิดีโอ ข้อมูลผลิตภัณฑ์ และข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืน เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่าเทคโนโลยีของบ๊อชนำไปใช้งานจริง
“สำหรับผม Invented for life หมายถึงความตั้งใจแน่วแน่ของเราที่จะสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยชีวิตปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้คน ไม่ใช่แค่เรื่องความสะดวกสบาย แต่ต้องส่งผลระยะยาว มีความหมาย มีความยั่งยืน และต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ด้วย” โจเซฟ กล่าว
ในมุมมองของโจเซฟ ทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับคนรุ่นใหม่ในโลกปัจจุบันคือ “ความสามารถในการปรับตัว” เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี การเรียนรู้ และการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการมีหัวใจที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย
ส่วนข้อความที่อยากฝากถึงเยาวชนไทยที่กำลังเริ่มต้นการเดินทางในนวัตกรรมและเทคโนโลยี โจเซฟ แนะนำให้มีความอยากรู้อยากเห็น อย่าหยุดสงสัย อย่ากลัวที่จะตั้งคำถามหรือคิดต่าง เพราะนวัตกรรมมักเริ่มต้นจากการสังเกตเห็นบางสิ่งที่อาจดูเล็กน้อย แล้วสงสัยว่ามันจะดีขึ้นได้อย่างไร ขอให้กล้าคิด กล้าทำ และเชื่อว่าความคิดของตัวเองมีคุณค่า
ไอเดียจากเยาวชนไทย
ทีมที่ได้รับรางวัลในโครงการ Innovision Young Gen with Bosch ปีนี้ประกอบด้วยทีมจากหลากหลายโรงเรียน และมหาวิทยาลัยที่ต่างก็มีไอเดียที่น่าสนใจและสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หนึ่งในทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาคือ “ครูแหม่มสั่งลุย” จากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา 2 ที่นำเสนอ “DA SYSTEM: ระบบป้องกันการหลับในขณะขับขี่” ไอเดียในการพัฒนาระบบตรวจจับหลุมบ่อบนท้องถนนเพื่อลดอุบัติเหตุจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ในประเทศไทย
แนวคิดนี้คือ การพัฒนาอุปกรณ์เสริมในรถยนต์ที่สามารถตรวจจับอาการเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ผ่านการสแกนม่านตาและท่าทาง เช่น การก้มศีรษะหรือภาวะสะลึมสะลือ หากตรวจพบสัญญาณผิดปกติ ระบบจะส่งการสั่นเตือนผ่านเบาะนั่ง รวมถึงส่งเสียงกระตุ้นเพื่อให้ผู้ขับตื่นตัว ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน
ตัวแทนจากทีมเล่าว่า จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดจากการสังเกตปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนน ประกอบกับแรงบันดาลใจจากการศึกษาประวัติของบ๊อช ที่มีผลงานด้านนวัตกรรมความปลอดภัยมายาวนาน
“พวกเรารู้สึกดีใจมากที่ไอเดียเล็ก ๆ ของเราได้รับการยอมรับ” ตัวแทนทีมกล่าว พร้อมเสริมว่า สิ่งที่ได้จากโครงการนี้ไม่ใช่แค่รางวัลหรือพอร์ตโฟลิโอสำหรับศึกษาต่อเท่านั้น แต่ยังได้เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับการทำงานในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และปลุกความสนใจในสายงาน Mobility ของหลายคนในทีม
อีกหนึ่งทีมที่ได้รับรางวัลคือ “Neuro Spoke Spake - AI Eco-Driving Assistant: ระบบช่วงล่างอัจฉริยะ” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคว้ารางวัลชนะเลิศระดับมหาวิทยาลัย ด้วยแนวคิดพัฒนาเซนเซอร์สำหรับตรวจจับสภาพถนนที่ติดตั้งบนรถจักรยานยนต์ โดยระบบสามารถประเมินสภาพพื้นผิวได้ล่วงหน้า แจ้งเตือนผู้ขับขี่ และช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากหลุมบ่อหรือสภาพถนนที่ไม่ปลอดภัย
น้องๆ เล่าว่า แรงบันดาลใจของไอเดียนี้เกิดจากการสังเกตเห็นปัญหาหลุมบ่อบนถนนในไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทั่วถึง เมื่อผสานเข้ากับเทคโนโลยีจากบ๊อช เช่น ระบบ Cruise Control และระบบป้องกันการชน จึงต่อยอดออกมาเป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์ความปลอดภัยได้อย่างลงตัว
แม้จะใช้เวลาพัฒนาเพียงครึ่งเดือน ทีมต้องเผชิญกับความท้าทายในการคัดเลือก Pain Point ที่เหมาะสม และออกแบบโซลูชันที่ทั้งสร้างสรรค์และมีความเป็นไปได้จริง
“โครงการนี้เป็นเหมือนพื้นที่ให้เราได้ทดลองและวิเคราะห์ว่าไอเดียหนึ่งจะสามารถไปต่อได้มากน้อยแค่ไหนในโลกแห่งความจริง” ตัวแทนทีม Neuro Spoke Spake กล่าว
ทั้งสองทีมต่างมีความคาดหวังที่จะนำไอเดียของตนไปพัฒนาต่อในอนาคต โดยทีมครูแหม่มสั่งลุยหวังว่าเทคโนโลยีของพวกเขาจะช่วยลดอุบัติเหตุและปัญหาถนนที่ไม่ดีในประเทศไทย ส่วนทีม Neuro Spoke Spake ยังหวังว่า ไอเดียที่พวกเขาพัฒนาจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงและช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างยั่งยืนในอนาคต
เกี่ยวกับภาพรวมและวิสัยทัศน์ของบ๊อช
นอกจากโครงการส่งเสริมเยาวชนแล้ว โจเซฟ ฮง ยังเล่าให้ฟังถึงภาพรวมและวิสัยทัศน์ของบ๊อชในฐานะผู้นำเทคโนโลยีมายาวนานกว่า 140 ปี ความสำเร็จของบ๊อชมาจากการยึดมั่นในนวัตกรรม คุณภาพ และความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งลงทุนในเทคโนโลยีแห่งอนาคตโดยไม่ละทิ้งค่านิยมที่ยึดถือ
ในยุคที่เอไอเข้ามามีบทบาท บ๊อชเลือกที่จะเปิดรับเอไออย่างจริงจัง นำมาเสริมให้ผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่างๆ ฉลาดขึ้น ปรับตัวได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตั้งแต่บ้านอัจฉริยะ โรงงานอัตโนมัติ ไปจนถึงระบบขนส่ง พร้อมกับยืนยันว่า การใช้งานเอไอต้องมีจริยธรรมและความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย
นวัตกรรมเอไอของบ๊อชถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ความต้องการล่วงหน้า หรือการรักษาความเป็นส่วนตัว เพื่อทำให้ชีวิตปลอดภัย น่าสนใจ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามสโลแกน Invented for life
การที่บ๊อชมีบุคลากรวิจัยและพัฒนา (R&D) กว่า 86,000 คนทั่วโลก ทำให้บ๊อชสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ผสมผสานทั้งความเข้าใจเชิงท้องถิ่นและองค์ความรู้ระดับโลก พร้อมทั้งลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนถึง 7–8% ของยอดขายในแต่ละปี ซึ่งถือเป็นการยืนยันว่า “นวัตกรรม” คือแก่นสำคัญของตัวตนบ๊อช
“บ๊อช ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างโลกที่เชื่อมต่อกันอย่างยั่งยืนและปลอดภัย ผ่านนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญทั้งกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม” โจเซฟ กล่าว
บทบาทของบ๊อชประเทศไทย
สำหรับบ๊อชประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เพียงแต่เป็นฐานการผลิต แต่ยังขยายบทบาทด้านการขาย วิจัยและพัฒนา และเป็นแหล่งพัฒนาความรู้และนวัตกรรม เพื่อสะท้อนศักยภาพเฉพาะตัวของภูมิภาคนี้
ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทั้งเรื่องบุคลากรที่มีศักยภาพสูง โครงสร้างพื้นฐานที่กำลังพัฒนา และจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้บ๊อชเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยพร้อมจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมสำคัญของเอเชียในอนาคต
“ไทยมีศักยภาพอย่างมากในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในเอเชีย เราอยู่ในทำเลที่ตั้งเหมาะสม อีกทั้งกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เยาวชนของเรามีความสามารถ มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ บ๊อช รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในระบบนิเวศ นวัตกรรมที่น่าตื่นเต้นนี้” โจเซฟ กล่าวทิ้งท้าย