“ดีอีเอส” ไฟเขียวเพิ่ม “15 พื้นที่” เข็นสู่ "เมืองอัจฉริยะ"
“ชัยวุฒิ” นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการ "เมืองอัจฉริยะ" พร้อมร่วมพิจารณาข้อเสนอ "แผนพัฒนาเมือง 15 พื้นที่" ก่อนมีมติเห็นชอบเพื่อประกาศมอบตราสัญลักษณ์ เร่งส่งรายงานผลการประชุมต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนเฟสต่อไป
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ร่วมพิจารณาข้อเสนอ และเห็นชอบแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จำนวน 15 พื้นที่ ใน 14 จังหวัด ประกอบด้วย
1.นครระยองเมืองอัจฉริยะและน่าอยู่ จ.ระยอง
2. คันทรงโมเดล เมืองแห่งความสุขที่พึงประสงค์และสังคมแห่งการแบ่งปัน จ.ชลบุรี
3. การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลก
4. โครงการพิษณุโลกนครอัจฉริยะอย่างยั่งยืน
5. นครเชียงรายสู่เมืองอัจฉริยะ
6. เมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ
7. โคราชเมืองอัจฉริยะ
8. Smart City อุบลราชธานี
9. กระบี่เมืองอัจฉริยะ
10. จังหวัดพังงาสู่เมืองอัจฉริยะ
11. สตูลสมาร์ทซิตี้
12. พัฒนาเทศบาลนครเกาะสมุย สู่เมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน
13. หาดใหญ่เมืองอัจฉริยะสีเขียว
14. ปัตตานีเมืองอัจฉริยะ
15. เมืองสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์นราธิวาส
ส่งผลให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะรวม 30 พื้นที่ ใน 23 จังหวัด
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ภายใต้การทำงานของสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทยมีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน
โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถแก่บุคลากร ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับสูงให้มีทักษะด้านการวางแผน และสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้มากกว่า 150 คน ผ่านโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ โคงการอบรมผู้บริหาร หลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ
อีกทั้งกระตุ้นการเติบโตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อการบริการเมืองอัจฉริยะ ทั้งในส่วนผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบภาคเอกชน สถาบัน หรือหน่วยงานด้านนวัตกรรม ผู้ใช้บริการ ได้แก่ ภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และผู้ที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรหรือธุรกิจ
ทั้งนี้ ได้ประเมินว่า การพัฒนาแผนโครงการเมืองอัจฉริยะ โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจะสามารถกระตุ้นให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวมกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับการผลักดันให้เกิดการดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
“กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยไม่ใช่เพียงการมีแผนงานที่ชัดเจน แต่ต้องมีการบูรณาการการทำงานอย่างคล่องตัวจากผู้ที่มีส่วนกำหนดนโยบาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ไปจนถึงภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในพื้นที่นั้นๆ”
สำหรับผลการประชุมจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อรับทราบก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาจากนั้นจะมีพิธีประกาศมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยแก่ 15 พื้นที่ ใน 14 จังหวัดดังกล่าวต่อไป