เปิดรายงานอนุฯ ผู้บริโภค ชงล้มดีลควบรวมทรู - ดีแทค
ระบุจากการศึกษาข้อมูลดีลการควบรวมทรู - ดีแทค ประสบการณ์จากต่างประเทศ ทั้งเชิงทฤษฎี และผลกระทบเห็นว่าการรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคจากการถือครองธุรกิจบริการประเภทเดียวกัน ที่ส่งผลให้เกิดการผูกขาดชัดเจนในตลาดโทรคมนาคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ขณะนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีให้สำนักงาน กสทช.ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จะควบรวมธุรกิจโดยให้เวลา 30 วัน เพราะผลสรุปรายงานจากคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะที่ส่งมายังไม่รอบด้านเพียงพอทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายถึงผลสรุปจากคณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิพลเมือง โดยสรุปเป็นรายงานความยาวรวม 39 หน้า มีใจความสรุปว่า
"คณะอนุกรรมการด้านผู้บริโภคฯ มีการลงเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า กสทช. ไม่ควรอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทค เนื่องจากมีความชัดเจนจากการศึกษาข้อมูล ประสบการณ์จากต่างประเทศ ทั้งเชิงทฤษฎีและผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้ง เปิดการรับฟังความคิดเห็นว่าการรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคจากกรณีการถือครองธุรกิจ ในบริการประเภทเดียวกัน ที่ส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันการให้บริการโทรคมนาคม"
โดย กสทช. มีอํานาจในการสั่งห้ามการรวมธุรกิจหรือการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันได้ อนึ่ง ในกรณีที่ กสทช. พิจารณาอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทคคณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอต่อการ กําหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ 3 ส่วน คือ
1. ข้อเสนอเชิงโครงสร้าง
2.ข้อเสนอเชิงพฤติกรรมของผู้ประกอบกิจการ
และ 3.ข้อเสนอด้านการกํากับดูแลของ กสทช. ดังนี้
1.ข้อเสนอเชิงโครงสร้าง เพื่อให้เกิดความหลากหลายของบริการ ทางเลือก รักษาอํานาจต่อรอง ของผู้บริโภค และลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในมิติต่างๆ ทั้งนี้ อาจพิจารณากําหนดมาตรการทั้งก่อน และหลังการรวมธุรกิจเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมหรือรักษาระดับการแข่งขันในอุตสาหกรรม โดยมุ่ง บังคับใช้กับผู้มีอํานาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสําคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันความเสียหาย ต่อประโยชน์สาธารณะ
โดยมีเกณฑ์เป้าหมายให้ดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) ของตลาดบริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่และตลาดอื่นที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 100 จุด เพื่อให้ไม่เกิดสภาพการ กระจุกตัวของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศที่สูงขึ้นอย่างรุนแรง และไม่ทําให้เกิดผู้มีอํานาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ อันจะส่งผลต่อการแข่งขัน และเข้าข่ายเป็นการครอบงําตลาด เกิดผลกระทบต่อ ผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น กสทช. ไม่ควรอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจเลย
สำหรับการกําหนดให้มีการกระจายการถือครองทรัพย์สิน เช่น คลื่นความถี่ เสาโทรคมนาคม หรือ โครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็น ของผู้ขอรวมธุรกิจ เพื่อจัดสรรให้กับผู้ให้บริการรายอื่นที่มีศักยภาพให้สามารถเข้าแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ โดยมีเป้าหมายในการรักษาระดับการแข่งขัน และลดการผูกขาด กําหนดเงื่อนไขหรือมาตรการในการแบ่งใช้โครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็นของผู้ขอรวมธุรกิจ เช่น คลื่นความถี่ เสาสัญญาณ ฯลฯ ทั้งต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (MNO) และ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) โดยมีอัตราขั้นสูงของค่าตอบแทนการใช้โครงสร้าง พื้นฐานที่เหมาะสมและเป็นธรรม
1.กําหนดเงื่อนไขหรือมาตรการในการลดอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ (Barrier to Entry) เพื่อส่งเสริมและลดอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่
- กําหนดให้มีการรับคืนคลื่นความถี่จากผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่ขอรวมธุรกิจ และจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่เป็นการเฉพาะ
- กําหนดให้ผู้รวมธุรกิจต้องแบ่ง Capacity ของการให้บริการไม่น้อยกว่า 20-30% เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่สามารถร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็นจากผู้รวมธุรกิจได้ - กําหนดให้ผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่สามารถทําสัญญาการใช้บริการข้าม โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ (Roaming) กับผู้ขอรวมธุรกิจหรือผู้ให้บริการรายเดิมได้จนกว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานของตนเองเพียงพอ
2.ข้อเสนอเชิงพฤติกรรม ด้านราคาค่าบริการ โปรโมชั่น ระยะเวลา สิทธิพิเศษ รวมถึงการให้บริการร่วมกับบริการอื่น (Bundle) ฯลฯ และคุณภาพของบริการ ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานและตัวชี้วัดที่กําหนดในประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นข้อกําหนดสําหรับผู้ขอรวมธุรกิจ และในบางกรณีอาจกําหนดเป็นหลักการทั่วไป สําหรับผู้ให้บริการทุกราย
-กําหนดเป็นหลักการให้ผู้ใช้บริการต้องได้รับการบริการที่มีคุณภาพ รวมทั้ง ค่าบริการ รายการส่งเสริมการขาย ระยะเวลา และสิทธิพิเศษ ที่ไม่ด้อยไปกว่าเดิมภายหลังการรวมธุรกิจ จนกว่า ระยะเวลาตามสัญญาของผู้ใช้บริการแต่ละรายจะหมดลง หรือเป็นระยะเวลาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 12 เดือน และ/หรือมีสิทธิที่จะขอเปลี่ยนแปลงการรับบริการได้ตามที่ผู้ให้บริการที่รวมกิจการได้ให้บริการอยู่
-กําหนดให้ผู้ให้บริการต้องคุ้มครองความสามารถในการเข้าถึงบริการหรือพื้นที่ให้บริการ (Coverage) ที่ไม่น้อยกว่าเดิม หรือไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้บริการภายหลังการรวมธุรกิจ จนส่งผล กระทบต่อการใช้บริการของผู้บริโภค ทั้งในเชิงความครอบคลุม ปริมาณ และคุณภาพ รวมทั้ง ต้องมีสัดส่วนของ ศักยภาพการให้บริการ (Capacity) กับจํานวนผู้ใช้บริการที่ไม่น้อยลงกว่าเดิม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการรับ บริการที่มีคุณภาพ
-กําหนดให้ผู้ให้บริการมีการพัฒนาเทคโนโลยี และขยายความครอบคลุมของการ ให้บริการ เช่น กําหนดให้มีการขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมประชากรในเขตอื่นนอกเหนือเขตส่งเสริม เศรษฐกิจพิเศษและเมืองศูนย์กลางธุรกิจ 40-50% ของจํานวนประชากรทั้งหมด ภายในระยะเวลา 3-4 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 60-70% ของจํานวนประชากรทั้งหมด ภายในระยะเวลา 6-8 ปี
3.สำหรับข้อเสนอต่อ กสทช. เชิงการกํากับดูแลอุตสาหกรรม ในมิติการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ควรมีการ ติดตามตรวจสอบการจําแนกพื้นที่โซน A / B / C / C+ ซึ่งอาจเกิดการขยายตัวของพื้นที่โซน C / C+ เนื่องจาก การลดการแข่งขันที่จะเปิดให้บริการในพื้นที่โซน B ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่ไม่สูงนัก รวมทั้ง กําหนด มาตรการสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริม สนับสนุน หรือมาตรการอื่นใดให้เกิดการลงทุนในพื้นที่โซน B เพิ่มขึ้น เพื่อให้ เกิดการให้บริการที่ครอบคลุมแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้ การดําเนินการดังกล่าวอาจเป็นส่วนหนึ่งเพื่อจัดทําแผนการจัด ให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม(USO)
-ควรพิจารณาดําเนินการร่วมกับ กขค. และ สคบ. เพื่อรักษาระดับการแข่งขันและ คุ้มครองผู้บริโภคในกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ช่องทางกระจายสินค้าและช่องทางการเติมเงิน โดยอาจร่วมกัน กําหนดเงื่อนไขหรือมาตรการและดําเนินการร่วมกันภายใต้กรอบอํานาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้ง อาจ กําหนดแผนงานร่วมกันระหว่าง กสทช. และ สคบ. เพื่อเผยแพร่ความรู้กับผู้บริโภค
-ควรกําหนด และประกาศมาตรการ การส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ เช่น แผนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้รับคืนจากผู้ขอรวมธุรกิจหรือคลื่นความถี่อื่นภายใน ๖ เดือน และการ จัดทํา Spectrum Roadmap เพื่อความชัดเจนในการวางแผนการลงทุน รวมถึงมาตรการอื่นที่สร้างความ เข้มแข็งให้กับผู้ให้บริการรายใหม่ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้โดยเร็วที่สุด ตลอดจนมาตรการสนับสนุนการ เติบโตของบริการ MVNO เพื่อเป็นเครื่องมือในการพยุงมิให้ระดับการแข่งขันลดลงอย่างรุนแรง
-ควรพิจารณาประเด็นการเปิดเสรีการค้าสาขาโทรคมนาคม เท่าที่จําเป็น และเหมาะสม เพื่อลดข้อจํากัดการลงทุนของต่างประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอนาคตจําเป็นที่ต้องพึ่งพาเงิน ลงทุนขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคธุรกิจ และภาคผู้บริโภค โดย ต้องคํานึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ ก่อนกระบวนการปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดข้อจํากัดในการลงทุนดังกล่าว
-ทบทวนการกํากับดูแลค่าบริการโทรคมนาคม ทบทวนการกํากับดูแลคุณภาพบริการ ทบทวนการกําหนดและการกํากับดูแลผู้มีอํานาจเหนือตลาดในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่สะท้อนสภาพตลาดจริง เพื่อสร้างสมดุลในการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ ทบทวนกฎระเบียบ กระบวนการ และกลไกในการกํากับดูแลการรวมธุรกิจ ให้มีความชัดเจน และมีประสิทธิภาพ เช่น ความชัดเจนในอํานาจการอนุญาต การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะโดยปกปิด
โดยมุ่ง ให้ที่ปรึกษาอิสระดําเนินการอย่างเป็นวิชาการไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ขอรวมธุรกิจ ไม่มีความขัดกันแห่ง ผลประโยชน์ และให้เปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ การสร้างกระบวนการปฏิสัมพันธ์ในการพิจารณาระหว่างผู้ ขอรวมธุรกิจกับ กสทช. เพื่อยืนยันว่า การรวมธุรกิจจะเกิดประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ต่อผู้บริโภค และสิทธิพลเมืองอย่างเป็นรูปธรรม
และ 3.1 เชิงการติดตามและประเมินผลจากการรวมกิจการ / อุตสาหกรรม
หากมีการรวมธุรกิจ กสทช. ควรกําหนดเงื่อนไขให้มีการติดตามสถานการณ์ การคุ้มครองผู้บริโภค และมีมาตรการประเมินผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยให้ผู้ขอรวมธุรกิจ และผู้ประกอบกิจการ รายอื่น
1.ส่งรายงานในด้านต่างๆ ได้แก่ ราคาค่าบริการ รายการส่งเสริมการขาย ระยะเวลา สิทธิพิเศษ การให้บริการร่วมกับบริการอื่น (Bundle) ฯลฯ และคุณภาพของบริการ การแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการรวม ธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการบางประการ รวมทั้ง การให้ความยินยอมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สัญญาระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ และช่องทางการรับเรื่อง และกลไกการแก้ไขปัญหาแก่ผู้ใช้บริการ เพื่อ ประกอบการติดตาม และประเมินผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ กสทช. ควรเปิดเผยข้อมูล รายงานของผู้ให้บริการ ในส่วนที่สามารถเปิดเผยได้ และผลการประเมินผลกระทบต่อผู้บริโภคต่อสาธารณะ เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจ และการร่วมติดตาม และประเมินผลโดยผู้บริโภค และภาคส่วนต่างๆ ด้วย
2.ในกรณีที่มีระบบการติดตามตรวจสอบผลกระทบ ต่อผู้บริโภค และสิทธิของประชาชน ที่เกิดขึ้นภายหลังการรวมธุรกิจแล้วอาจนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงลดทอนเพิ่มเติมเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยแปลงไป (Subject to Future Regulations) โดยคํานึงถึงประโยชน์สาธารณะ และไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชน แต่ต้องไม่เป็นภาระแก่หน่วยงาน และเอกชนเกินสมควร รวมถึงต้องเป็นธรรม และเท่าเทียม ซึ่งอาจเป็นการกําหนดมาตรการ และเงื่อนไขเพิ่มเติมต่อผู้ได้รับใบอนุญาต
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์