‘กูเกิล’ เปิดข้อมูลเชิงลึก ความปลอดภัยออนไลน์เด็กไทย!!
กูเกิล เปิดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความปลอดภัยออนไลน์ของเด็ก และครอบครัวในไทย หนุนผู้ปกครองเตรียมพร้อมสำหรับการท่องโลกออนไลน์ของบุตรหลาน
Google ประเทศไทย เผยข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กและครอบครัว เนื่องจากในปัจจุบัน เด็กๆ เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและใช้เวลากับสื่อต่างๆ บนหน้าจอสมาร์ทโฟนมากขึ้น สำหรับผู้ปกครองแล้วการรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ การหาสมดุลที่เหมาะสม การกำหนดขอบเขต และการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาออนไลน์ให้กับเด็กๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างประสบการณ์ออนไลน์ที่ดีและปลอดภัย
เป็นสิ่งที่ Google มุ่งมั่นสนับสนุนสำหรับผู้ปกครองในการเตรียมความพร้อมสำหรับการท่องโลกออนไลน์ของบุตรหลานผ่านแอปพลิเคชันและฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ปกครองได้เริ่มพูดคุยกับบุตรหลานเกี่ยวกับเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นเพื่อช่วยลดช่องว่างและสร้างความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น
ในช่วงปีที่ผ่านมา Google ได้ตรวจสอบกับผู้ปกครองทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงประเทศไทย เกี่ยวกับการจัดการการใช้เทคโนโลยีของบุตรหลาน และได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กและครอบครัวที่แสดงให้เห็นว่า
- ผู้ปกครอง 83% มั่นใจว่าบุตรหลานจะมาปรึกษาเมื่อพบปัญหาบนโลกออนไลน์
- ผู้ปกครอง 67% ได้เสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ (เทียบกับ 66% ในปี 2564)
- ผู้ปกครอง 79% ได้พูดคุยกับบุตรหลานเรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ (เทียบกับ 77% ในปี 2564)
ทั้งนี้ ผู้ปกครองต่างเข้าใจดีว่าตั้งแต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กิจกรรมหลายอย่างได้ปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ที่มีถึง 55% โดยแอปการศึกษายอดนิยมในปีที่ผ่านมา ได้แก่ Khan Academy 16% ตามมาด้วย Google Classroom 14% และ Duolingo 12% นอกจากกิจกรรมการเรียนออนไลน์แล้ว ยังมีกิจกรรมออนไลน์อื่นๆ ด้วย โดย 36% เป็นการติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวทางไกล และ 33% เป็นการเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อน
และถึงแม้ผู้ปกครองมากกว่า 60% อนุญาตให้บุตรหลานมีเวลาอยู่หน้าจอนานขึ้น แต่ 1 ใน 3 ของผู้ปกครองยังรู้สึกว่าบุตรหลานของตนไม่มีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์
โดยความกังวลอันดับต้นๆ ของผู้ปกครองคือ เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย และการล่อลวงออนไลน์ ในขณะที่อายุเฉลี่ยของบุตรหลานที่มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเองคือ 9 ปี แต่อายุเฉลี่ยของบุตรหลานที่มีการพูดคุยเรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์อยู่ที่ 13 ปี
ดังนั้น ความท้าทายของผู้ปกครองในการติดตามเรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือเพื่อติดตามและควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของบุตรหลาน และความยากลำบากในการพูดคุยกับบุตรหลานของตน
ที่ผ่านมา Google ได้มอบเครื่องมือที่มีประโยชน์และแหล่งข้อมูลฟรีที่ช่วยผู้ปกครองในการดูแลการท่องโลกออนไลน์ของบุตรหลาน รวมทั้งยังสามารถควบคุมเนื้อหาให้มีความเหมาะสมกับบุตรหลานของตนได้อีกด้วย เช่น
- Be Internet Awesome เป็นทั้งเครื่องมือและเกมแบบอินเทอร์แอคทีฟที่สอนเด็กๆ เกี่ยวกับพื้นฐานของการเป็นพลเมืองดิจิทัลและความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ โดยหลักสูตร Be Internet Awesome นี้ได้ออกแบบให้สอดคล้องกับหลักสูตรตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อออกเกียรติบัตรโครงการ Be Internet Awesome โดยมูลนิธิครูดีของแผ่นดิน สําหรับครูผู้สอนในการเข้ารับการฝึกอบรมและนําโปรแกรม Be Internet Awesome เอาไปใช้ที่โรงเรียนของตนเอง
- Family Link ช่วยตั้งกฎพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อแนะนำบุตรหลานในขณะที่เรียนรู้ เล่น และสำรวจโลกออนไลน์ รวมไปถึงการสร้างตัวเลือกเวลาหน้าจอที่เหมาะสม ซึ่ง 38% ของผู้ปกครองในไทยใช้แอปพลิเคชันนี้
- ฟีเจอร์ค้นหาปลอดภัยโดย Google ช่วยกรองเนื้อหาที่โจ่งแจ้งและไม่ปลอดภัยในผลการค้นหาของ Google สำหรับการค้นหาทั้งหมด รวมถึงรูปภาพ วิดีโอ และเว็บไซต์ ซึ่งผู้ปกครอง 40% ในไทยใช้เนื้อหาดังกล่าว
- YouTube Kids ผู้ปกครองสามารถสร้างโปรไฟล์สำหรับบุตรหลานเพื่อแสดงเนื้อหาที่เหมาะสำหรับครอบครัว และจัดการเวลาอยู่หน้าจอ ซึ่งผู้ปกครอง 59% ในไทยใช้ YouTube Kids เพื่อปรับแต่งประสบการณ์การใช้งานให้เหมาะสมกับบุตรหลานของตน
ถึงแม้ว่าจะไม่มีวิธีที่ถูกต้องที่สุดในการพูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาและการรักษาความปลอดภัยในออนไลน์กับบุตรหลาน แต่หากมีการเริ่มต้นให้เร็วขึ้นและใช้เครื่องมือสำหรับผู้ปกครองอย่างเหมาะสมในการสื่อสารกับบุตรหลานทุกๆ วัน ก็อาจจะสามารถช่วยลดช่องว่างนั้นได้