ภาคประชาชน บุก กสทช.จี้ถาม "ส่งหนังสือถามกฤษฎีกาทำไมทั้งที่ตัวเองมีอำนาจ"
ภาคประชาชนไม่ทน! หักซิม แดง-ฟ้า แสดงจุดยืน ติง กสทช.กดดันสำนักงานกฤษฎีกาตีความอำนาจตนเอง เป็นครั้งที่ 2 ยันไม่ควรยืมมือใครถามหาอำนาจตัวเอง ส่อเจตนาเร่งปิดดีลทรูดีแทค พร้อมเดินหน้าเรียกร้องให้ กขค.ออกมาทำหน้าที่ อย่าขาลอย ต้องปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภค
วันนี้ (29 ส.ค.65) กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงานกสทช.เพื่อยืนหนังสือร้องเรียนถึง ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช.และบอร์ดทั้งหมด จากกรณีที่ กสทช. ก็ได้มีการทำหนังสือนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของตนในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นรอบที่ 2 แสดงถึงเจตนาและความพยายามที่จะไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยยินยอมให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซง ครอบงำการใช้อำนาจของ กสทช. ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนนูญอย่างชัดเจน โดยกลุ่มได้ทำการ หักซิม สีฟ้า-สีแดง แสดงจุดยืนในการคัดค้านดีลควบรวมธุรกิจ ทรูและดีแทค
ตัวแทนกลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร กล่าวว่า กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ ผู้ประกอบการ มิใช่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ประกอบการแต่เพียงอย่างเดียว และต้องไม่ถูกครอบงำจากอำนาจฝ่ายบริหาร จากการที่ กสทช. ได้มีการทำหนังสือไปหากฤษฎีกาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 และ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับ กสทช. มาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ว่าไม่สามารถรับข้อหารือไว้พิจารณาได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล
ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะส่งหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี เพื่อให้กฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และส่งผลให้ นายกรัฐมนตรี เสื่อมเสีย และมีความเสี่ยงในการปฏิบัติขัดต่อกฎหมาย
ตัวแทนกลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ย้ำว่า การควบรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะต้องรับภาระราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น 2.03-244.50% (อ้างอิงผลการศึกษา กสทช.) หรือไม่มีโอกาสที่จะปรับราคาลดต่ำลงได้ เหมือนเช่นในอดีต ที่มีการแข่งขันกันกันสูง หากอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจ นอกจากเป็นการลดทางเลือกผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการสร้างอาณาจักรเพิ่มเติมของนายทุนให้ดำเนินการธุรกิจแบบ Cross Industry การบริการจะถูกย้ายจาก ร้านค้าลูกตู้ ไปยัง ร้านค้าปลีก 7/11 เพราะไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่านายหน้าในการขายสินค้าให้ร้านค้า อีกต่อไป
ทางกลุ่มหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กสทช. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ในฐานะองค์กรอิสรที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่ทำให้เกิดการลดการแข่งขัน อันอาจจะทำให้ผู้บริโภคและประเทศชาติเสียผลประโยชน์ ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
หลังจากนั้น กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสารได้เดินหน้าต่อไปยัง สำนักงานการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้สำนักงานดังกล่าว พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค ซึ่งจะเป็นการควบรวมของบริษัทเอกชนทั้ง 2 บริษัท ประเทศแรกในโลก ที่มีการอนุญาตให้ควบรวมผู้ประกอบการรายใหญ่จาก 3 ราย เหลือ 2 ราย และการควบรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นการผูกขาดตลาด ลดทางเลือกในการใช้บริการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกด้านราคา ทางเลือกด้านบริการหลังการขาย และ ทางเลือกด้านคุณภาพการใช้บริการ
เนื่องจากก่อนหน้านี้ กขค. มีความเห็นว่า กสทช. มีกฎหมายเฉพาะ สามารถพิจารณาการควบรวมดังกล่าวเองได้ เห็นว่าถ้าเป็นเรื่องใบอนุญาตบริการ คลื่นความถี่ และเรื่องทางเทคนิคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคม เป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องกำกับดูแล แต่ผลกระทบกับตลาดการแข่งขัน กขค. ย่อมไม่อาจปฏิเสธอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องเข้ามาพิจารณาควบคู่กับไปกับการพิจารณา ของ กสทช.
นายมนยศ วรรธนะภูติ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ากล่าวหลังจากรับเรื่องจาก กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสารในวันนี้ ว่า “เรื่องนี้คณะกรรมการก็ทราบดี และก็ดำเนินการตามขั้นตอนหลังจากที่ได้รับจดหมายร้องเรียน ซึ่งบอร์ดกำลังพิจารณาถึงการเข้าร่วมพิจารณาตัดสินการควบรวมธุรกิจของทรู ดีแทค เราไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบในหน้าที่ในการเข้ามาจัดการเรื่องนี้ เพราะนอกเหนือจากการควบรวมของธุรกิจโทรคมนาคมยังมีธุรกิจอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่อยู่ในสายการผลิตของกลุ่มนี้ด้วย โดยมีความกังวลเช่นเดียวกับที่กลุ่มพลเมืองได้มายื่นแจ้ง”
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ให้ข้อมูลในกรณี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ สทช ๒๔๐๒/ ต่อ นายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายว่า “ถ้าทางคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยพิจารณาต่อกรณีนี้ ก็จะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ กสทช ซึ่งจากการทำเรื่องส่งไปในครั้งที่แล้วทางกฤษฎีกาก็มีหลักเกณฑ์กลับมาว่าเรื่องอยู่ในศาล ครั้งนี้เราก็เลยทำเรื่องเข้าไปให้พิจารณาอีกครั้ง ผ่านทางนายกรัฐมนตรี
ส่วนท่านจะสั่งการหรือยังไม่แน่ใจ ซึ่งคาดหวังอำนาจจากนายกรัฐมนตรี สั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความให้ ถ้าท่านอนุเคราะห์ให้เราในการตีความก็จะขอบคุณมาก เราเป็นองค์กรอิสระก็จริงแต่ก็อยากฟังความเห็นของหลายๆ ฝ่ายเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากท่านฯ ตีตกกลับมาก็ไม่ได้กระทบกับเงื่อนเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการ"