กสทช.คิกออฟแผนประมูลดาวเทียม 'ไทยคม' ออกโรงค้านชี้ราคาแพงเกิน
เปิดราคาประมูลดาวเทียม 5 แพ็กเกจรวม 1,841 ล้านบาท เชื่อช่วยจูงใจให้มีคนเข้าเคาะราคา มั่นใจครั้งนี้ไม่ล่มเพราะน่าจะมีเอกชนร่วมประมูล 2-3 ราย ด้านไทยคมค้านเหตุราคาไม่สอดคล้องกับสภาพการแข่งขัน จี้กำหนดวันประมูลชัดเจนเพราะมีผลต่อการวางแผนธุรกิจ
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วานนี้ (30 ส.ค.) กสทช.ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (แพ็คเกจ) ซึ่งเป็นฉบับแก้ไขปรับปรุง หลังจากได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.2565 ที่ผ่านมาโดยจะเปิดรับฟังต่อจนถึงวันที่ 12 ก.ย. 2565 เพื่อปรับแก้ไขร่างประกาศเพิ่มเติม
จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการกสทช.ภายในเดือนต้นเดือน ต.ค. 2565 และนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในปลายเดือน ต.ค. 2565 คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือน ธ.ค.2565 รับประกันว่าการประมูลวงโคจรจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะเงื่อนไขมีการระบุราคาเริ่มต้นสำหรับผู้เข้าร่วมประมูล 1 ราย และ ราคาเริ่มต้นสำหรับผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 1 ราย คาดมีผู้เข้าร่วมประมูล 2-3 ราย
สำหรับการแพ็คเกจดาวเทียมที่จะจัดประมูลประกอบด้วย 5 แพ็คเกจ รวมราคาเริ่มต้นทั้งสิ้น 1,841 ล้านบาท หากมีผู้แต่ละแพ็คเกจ 1 ราย จากเดิมที่ราคา 1,801 ล้านบาท ประกอบด้วย
ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาเริ่มต้นการประมูล หากเข้าร่วมประมูล 1 ราย ราคาเริ่มต้น 522 ล้านบาท หากเข้าร่วมประมูลมากกว่า 1 ราย ราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาท จากเดิมที่เคยกำหนดราคา 676 ล้านบาท
ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) หากเข้าร่วมประมูล 1 ราย ราคาเริ่มต้น 503 ล้านบาท หากเข้าร่วมประมูลมากกว่า 1 ราย ราคาเริ่มต้น 360 ล้านบาท จากเดิมที่เคยกำหนดราคา 366 ล้านบาท
ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน G2K และ 120E) หากเข้าร่วมประมูล 1 ราย ราคาเริ่มต้น 547 ล้านบาท หากเข้าร่วมประมูลมากกว่า 1 ราย ราคาเริ่มต้น 397 ล้านบาท จากเดิมที่เคยกำหนดราคา 392 ล้านบาท
ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 8 ล้านบาท
และ ชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) หากเข้าร่วมประมูล 1 ราย ราคาเริ่มต้น 259 ล้านบาท หากเข้าร่วมประมูลมากกว่า 1 ราย ราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาท
“กสทช.จำเป็นต้องนำวงโคจรทั้งหมดที่มีมาประมูล เพราะไม่รู้ว่าเอกชนต้องการวงโคจรไหนบ้าง หากวงโคจรไหนไม่มีผู้สนใจ เราก็เก็บไว้ประมูลภายหลัง เพราะกสทช.ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย”
ด้านนายเอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า บริษัทไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศดังกล่าว เนื่องจากราคาเริ่มต้นการประมูลสูงขึ้นจากเดิม ขณะที่ธุรกิจอยู่ในขาลง เช่น วงโคจร 78.5E ให้บริการด้านโทรทัศน์ แต่ธุรกิจนี้คนดูน้อยลง
ขณะที่การแข่งขันภายใน 3 ปีนี้จะมีผู้แข่งขันจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดมากขึ้น มีการแข่งขันลดราคา โดยราคาค่าบริการทีวีลดลง 9.3% ต่อปี และการให้บริการบรอดแบนด์ ลดลง 7.5 % ต่อปี ประเทศไทยนอกจากค่าใบอนุญาตและค่าวงโคจรจะแพงกว่าประเทศอื่นแล้ว คือ ค่าใบอนุญาต 4% ค่าวงโคจร 0.25% แล้วยังมีค่าประมูลที่เป็นต้นทุนอีก
ส่วนวงโคจร 119.5E หรือ ไทยคม 4 ให้บริการดาวเทียมไอพี สตาร์ เดิมทีลูกค้าอยู่ในประเทศแถบเอเซีย แปซิฟิค ผู้ที่ชนะการประมูล ต้องรับประกันว่าจะสามารถให้บริการต่อได้ทันที แม้ไทยคมเอง ก็ไม่รู้ว่าถ้าประมูลได้ไป จะทำทันหรือไม่ เพราะดาวเทียมดวงนี้ใกล้หมดอายุสัญญาสัมปทานปี 2566 และต้องรีบประมูลก่อน ส่วนวงโคจรอื่นที่ยังไม่เคยมีการใช้งานเพราะใช้งานยาก มีเงื่อนไขในการบริหารจัดการ และมีดาวเทียมดวงอื่นอยู่ใกล้คือ 50.5/51 , 126 และ 142 ควรลดราคาลงด้วย
ขณะที่ภาครัฐหากต้องการทำดาวเทียม ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เป็นบริการที่รัฐเข้ามาทำเพราะเอกชนทำแล้วไม่คุ้มทุน หรือ เป็นบริการที่ขาดแคลนหรือไม่ ทำไมรัฐต้องเข้ามาทำ ทำแล้วจะคุ้มค่าจริงหรือไม่ และไม่ควรบังคับให้เอกชนแบ่งความจุไปให้รัฐบาลใช้ โดย กสทช.ต้องระบุวันประมูลให้ชัดเจน เพราะไทม์ไลน์แผนการจัดการของ กสทช. มีผลอย่างมากต่อแผนการดำเนินธุรกิจของเอกชน และการสร้างประโยชน์ให้เแก่ประเทศชาติ