Net-Zero Water พลิกวิกฤติสู่ความยั่งยืน | ต้องหทัย กุวานนท์
ปัญหาขาดแคลนน้ำจากภาวะโลกร้อน และภัยแล้ง กำลังเป็นวิกฤติของภาคธุรกิจทั่วโลก เพราะการใช้น้ำในซัพพลายเชนทั้งหมดของภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของทรัพยากรน้ำจืดสำหรับใช้อุปโภคบริโภค
ข้อมูลจากสถาบัน World Resource (WRI) ระบุว่าภายในพ.ศ. 2573 กว่า 50 ประเทศทั่วโลกจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และในครัวเรือน
สำหรับประเทศไทยเอง ถึงแม้ข้อมูลจะระบุว่าเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในระดับกลาง (อันดับที่ 77) แต่พื้นที่อุตสาหกรรมของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง บางปีที่ภาวะภัยแล้งรุนแรง ก็ต้องเร่งซื้อน้ำดิบป้อนนิคมอุตสาหกรรมและออกมาตรการประหยัดน้ำทั้งในภาคธุรกิจและชุมชน
โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำในปริมาณมาก จากวิกฤติสู่การบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน องค์กรชั้นนำทั่วโลกกำลังร่วมมือกันภายใต้ CEO Water Mandate ซึ่งเป็นโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ที่ดึงเอาผู้นำภาคธุรกิจในระดับโลกมาร่วมแก้ปัญหาความท้าทายเรื่องน้ำ
หลายองค์กรกำลังขับเคลื่อนเรื่อง การใช้น้ำสุทธิเป็นบวก (Net Positive Water) โดยมีเป้าหมายลดการใช้ทรัพยากรน้ำและเติมน้ำสะอาดกลับคืนสู่แหล่งน้ำในท้องถิ่นให้ได้มากกว่า 100% บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เป๊ปซี่โค ประกาศเป้าหมายไปสู่ Net Positive Water ภายในปีพ.ศ. 2573
บริษัท Intel ผู้ผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เพิ่งประกาศความสำเร็จการใช้น้ำสุทธิเป็นบวกในสามประเทศ - สหรัฐอเมริกาฯ คอสตาริกา และอินเดีย ตั้งเป้าไปสู่ Net Positive Water ในทุกประเทศที่มีฐานการผลิต นอกจากนั้น หลายองค์กรยังขับเคลื่อนการเป็น Zero Water factory หรือโรงงานปลอดการใช้น้ำ เช่น Nestle ในเม็กซิโก ที่ใช้เทคโนโลยีปรับกระบวนการผลิต
โดยดึงน้ำออกมาจากน้ำนมที่ผ่านกระบวนการแปรรูปแทนที่จะดึงน้ำมาใช้จากแหล่งน้ำภายนอก Levi Strauss นำเอานวัตกรรมมาปรับกระบวนการผลิตกางเกงยีนส์โดยทำให้ใช้น้ำลดลงถึง 96% Danone บริษัทอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลกกำลังทดสอบระบบการผลิตที่ใช้น้ำจากน้ำฝนและรีไซเคิลน้ำในกระบวนการผลิตอย่างครบวงจร
เมื่อองค์กรยักษ์ใหญ่ขยับตัว สิ่งที่ตามมาคือ เงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรน้ำ ปีที่ผ่านมาเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ตอัปด้าน Water Tech มีมูลค่าสูงขึ้นถึง 470 ล้านดอลลาร์ และมีกองทุนเปิดใหม่มูลค่าเกินร้อยล้านดอลลาร์ เช่น Emerald Technology Ventures ที่เพิ่งปิดระดมทุนและมีองค์กรใหญ่หลายองค์กรร่วมลงทุนเช่น Temasek, Microsoft, SKion, และ Ecolab
ส่วนสตาร์ตอัปที่ระดมทุนไปเกินสามสิบล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็มี Source Global นวัตกรรมน้ำดื่มจากอากาศและพลังแสงอาทิตย์ Olea Analytics ที่พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำสำหรับสมาร์ตซิตี้
นวัตกรรมเพื่อการบริหารทรัพยากรน้ำ การรีไซเคิลน้ำ และการลดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม คือ คำตอบสู่ความยั่งยืนของการจัดการน้ำในภาคธุรกิจ ภายในอีกไม่เกินสิบปีข้างหน้า เราคงได้เห็น Zero Water Factory กลายเป็นมาตรฐานใหม่ภาคบังคับของโรงงานอุตสาหกรรม และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกวิกฤติไปสู่เส้นทางของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน