Focus-Specialized วิถีธุรกิจเฮลท์แคร์ | ต้องหทัย กุวานนท์
ธุรกิจเฮลท์แคร์เป็นธุรกิจที่มีภูมิต้านทานต่อเศรษฐกิจถดถอยสูง ท่ามกลางความผันผวนของตลาดทุน และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ธุรกิจเฮลท์แคร์ก็ยังมีเม็ดเงินลงทุนในดีล M&A ถึงสี่แสนกว่าล้านดอลลาร์ และเติบโตกว่า 16% ในปีที่ผ่านมา
ประเด็นที่น่าสนใจและน่าจับตามองก็คือ เฮลท์แคร์กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่ผลิตยูนิคอร์นหน้าใหม่มากถึง 40 รายในช่วงปี 2021-2022 ทำให้มูลค่าธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยู่ในกลุ่มนี้ทะยานขึ้นถึงกว่าสองแสนล้านดอลลาร์ นอกจากในมุมการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพแล้วในฝั่งขององค์กรยักษ์ใหญ่ปีนี้จะมีการ Spin-off ธุรกิจออกจากยานแม่เพื่อมุ่งสู่การเข้า IPO อีกหลายธุรกิจ
เช่น แกล็กโซ สมิทไคล์น (GSK) กำลังจะนำเอาธุรกิจคอนซูเมอร์เฮลท์แคร์เข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในปีนี้ เช่นเดียวกับ จีอี (GE) จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) ซาโนฟี่ (Sanofi) ที่จะแยกเอาบางกลุ่มธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อใช้กลไกของตลาดทุนในการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ
ทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจเฮลท์แคร์ด้วยกลยุทธ์ Focus-Scale-Specialized ได้กลายเป็นเส้นทางหลักของการขยายธุรกิจ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำอย่าง Bain & Company มองว่าความสำเร็จของการ Spin-off ในอดีตได้กลายเป็นต้นแบบของการแยกธุรกิจที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางออกมา เและใช้ความเชี่ยวชาญนั้นเป็นบันไดในการขยายธุรกิจ
(ภาพถ่ายโดย Pixabay)
เช่น บริษัท AbbVie ที่ทำธุรกิจวิจัย และพัฒนายารักษาโรคเฉพาะทาง แยกตัวออกมาจากบริษัทยาและเวชภัณฑ์แอ๊บบอตในปี 2013 ปัจจุบันได้กลายเป็นบริษัทพัฒนายาและเวชภัณฑ์ที่มีมูลค่าธุรกิจ (Market Cap) ถึงสองแสนเจ็ดหมื่นล้านดอลลาร์ แซงหน้าบริษัทแม่อย่างแอ๊บบอต และถือว่าเป็นหนึ่งในหุ้นห่านทองคำที่นักลงทุนระดับโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ถือไว้ในพอรต์โฟลิโอ
อีกหนึ่งตัวอย่างของบริษัท Spin-off ที่ประสบความสำเร็จคือ Baxalta บริษัทวิจัยและพัฒนายารักษาโรคฮีโมฟีเลีย ที่แยกตัวออกมาจากยักษ์ใหญ่ทางด้านเวชภัณฑ์ แบ็กซ์เตอร์ (Baxter) และได้ควบรวมกับ Shire บริษัทด้านไบโอฟาร์มาของอังกฤษ และกลายเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนายารักษาโรคหายาก (rare disease) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริษัททาเคดะด้วยมูลค่าธุรกิจกว่าหกหมื่นล้านดอลลาร์
(ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio)
เส้นทางสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจเฮลท์แคร์ มีแพทเทิร์นค่อนข้างชัดเจน นั่นคือการ “โฟกัส” ไปตรงธุรกิจที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและ “สเกล” โดยใช้กลไกของตลาดทุนเพื่อนำเงินมาทุ่มเทกับการทำ R&D และซื้อธุรกิจที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมความเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์
กรณีศึกษาของ AbbVie เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ การที่บริษัท spin-off สามารถโตขึ้นมามีมูลค่าธุรกิจสูงกว่าบริษัทแม่ และสามารถพัฒนายาที่ประสบความสำเร็จในตลาดได้ถึง 26 ตัวภายในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าการโฟกัสไปที่ธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือ “Specialized” เป็นกลยุทธ์ที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในระยะยาว และสามารถสร้างเกราะป้องกันคู่แข่งขันได้เป็นอย่างดี
ทิศทางการขยายธุรกิจของธุรกิจเฮลท์แคร์น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับธุรกิจในเซ็คเตอร์อื่น การเลือกเส้นทางการเติบโตของธุรกิจในอนาคต เหนือสิ่งอื่นใดคือการเข้าใจศักยภาพขององค์กรว่าแท้จริงแล้ว “รากแก้ว” หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางขององค์กรอยู่ตรงจุดไหน
คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม