ปรับโมเดล E-Grocery สู่ New S-Curve | ต้องหทัย กุวานนท์
สมรภูมิการสั่งซื้อของสดของใช้ออนไลน์ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลวิจัยล่าสุดจาก e-Conomy SEA ที่จัดทำโดย Google และ Temasek ระบุว่า ตลาด Online Grocery มีแนวโน้มจะเติบโตถึงห้าหมื่นล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่ามูลค่าตลาด e-Commerce
ในปัจจุบัน ถ้าสามารถขยายการใช้งานของลูกค้า (Online Penetration) ได้ 10% จากที่มีอยู่เดิม 2% ผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคกว่า 60% ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาสั่งซื้อของสดของใช้ผ่านช่องทางออนไลน์
ผลสำรวจจาก McKinsey ระบุว่า การใช้บริการ E-Grocery จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัวภายในอีกไม่เกินห้าปีข้างหน้า ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของผู้เล่นในธุรกิจนี้อยู่ที่การมีโมเดลธุรกิจที่จะทำให้บริหารจัดการ “เก็บ-แพค-ส่ง” ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อที่จะแข่งขันได้ภายใต้สภาพตลาดแดงเดือด
สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตลาด Grocery มีมูลค่ากว่าสามแสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 50% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งหมด การครอบครองส่วนแบ่งในตลาดออนไลน์หมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ทุกคนอยากลงมาเล่น
ในขณะที่ผู้เล่นระดับภูมิภาคอย่าง Grab, Lazada, Shopee และ Food Panda กำลังบุกหนักเพื่อขยายตลาดและขอบเขตการให้บริการ
ผู้เล่นกลุ่มรองลงมาก็กำลังเล่นเกมรุกเพื่อปรับโมเดลธุรกิจและแสวงหาพันธมิตรใหม่เพื่อการเติบโต เช่น Happy Fresh เปิดโมเดลธุรกิจใหม่ Happy Fresh ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่สามารถจัดส่งสินค้าของสดของใช้กว่าหมื่นรายการจากศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้าของ Happy Fresh เอง
Bukalapak ยักษ์ใหญ่ e-Commerce จากอินโดนีเซีย ก็เพิ่งจับมือกับกลุ่มบริษัท CT Corp ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่มีธุรกิจครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมเปิดตัว Allofresh ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์โดยระดมทุนไปแล้วเกือบสองพันล้านบาท
ส่วนตลาดในประเทศไทยเองก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน Freshket แพลตฟอร์มของสดออนไลน์ของไทยก็เพิ่งระดมทุนในระดับ Series B ได้กว่า 800 ล้านบาท จาก VC และบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเครือเบทาโกร และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของ ปตท. แค่ปี 2022 ผ่านไปยังไม่ถึงครึ่งปี ความเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจ E-Grocery ก็ส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนว่า
เร็วๆ นี้น่าจะมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลายรายและอาจเป็นรายใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มค้าปลีกเดิม และสตาร์ทอัพ
ถึงแม้โอกาสในธุรกิจ E-Grocery จะดูหอมหวานและดึงดูดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เป็น Pain points ของการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ยังคงเป็นปัญหาพื้นฐานเรื่องเดิมๆ เช่น การบริหารจัดการความหลากหลายของจำนวน SKUs และการจัดการสินค้าทดแทน การนำเสนอขายสินค้าแบบ Cross-sell ข้ามกลุ่มสินค้า
หรือการ Upsell ด้วยโปรโมชั่น การสร้างประสบการณ์กับลูกค้า สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มออนไลน์ทำได้ไม่ดีนักเมื่อเปรียบเทียบกับร้านค้าออฟไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีกหรือธุรกิจ Grocery มาก่อน
สำหรับอนาคตการเติบโตของธุรกิจ E-Grocery การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่เพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการ น่าจะเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดของวันนี้
อนาคตผู้นำในธุรกิจ E-Grocery อาจจะไม่ใช่ผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกหรือธุรกิจเดลิเวอรี่ แต่อาจเป็นการร่วมมือกันของยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์ กับสตาร์ทอัพ และค้าปลีกระดับรอง ที่การทุ่มหมดหน้าตักเพื่อช่องทางออนไลน์จะเป็นกลยุทธ์พลิกเกมธุรกิจอย่างแท้จริง
คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม