นักวิจัยโลหิตวิทยา ม.มหิดล คว้ารางวัลนักวิทย์ฯ ดีเด่น ปี 65
"นพ.วิปร วิประกษิต" นักวิจัยโลหิตวิทยา ม.มหิดล ผู้คิดค้นนวัตกรรมรถตรวจหาเชื้อโควิด 19 คว้ารางวัล "นักวิทย์ดีเด่น" ประจำปี 65 เงินรางวัลรวม 4 แสนบาท ชี้ เตรียมสร้าง AI ด้านจีโนมิกส์ช่วยแพทย์วิเคราะห์ข้อมูล
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดตัวผู้ได้รับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2565” ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 40
สำหรับปีนี้ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ นพ.วิปร วิประกษิต อาจารย์ประจำสาขาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คิดค้นและพัฒนา “แนวทางในการวินิจฉัยโรคทางโลหิตวิทยาด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์” โดยรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท
นพ.วิปร วิประกษิต
นพ.วิปร มีความเชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาโดยเฉพาะโรคเม็ดเลือดแดง โรคโลหิตจาง และธาลัสซีเมีย ตลอดระยะเวลา 20 ปี มีผลงานการวิจัยมากกว่า 180 เรื่อง ทางด้านอณูเวชศาสตร์ ด้านโลหิตวิทยาของโรคเม็ดเลือดแดง และด้านโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งได้รับการอ้างอิงมากกว่า 10,000 ครั้ง ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ก็ยังได้รับการจัดอันดับจาก AD Scientific Index ว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา อันดับ 1 ในประเทศไทยและเป็นอันดับที่ 7 ของเอเชีย ซึ่งมีผลงานวิจัยที่สำคัญ ได้แก่
- การค้นพบโรคทางโลหิตวิทยาชนิดใหม่ในคนไข้ชาวไทย และตั้งชื่อว่าโรคเคแอลเอฟ 1
- การค้นพบกลไกการเกิดโรคพันธุกรรมแบบใหม่จากการเปลี่ยนแปลงลำดับดีเอ็นเอที่ส่งผลต่อการควบคุมการแสดงออกของยีน
- การวิจัยทางคลินิกของผลการรักษาภาวะเหล็กเกินด้วยยาขับเหล็กที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย
- การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประเมินภาวะเหล็กเกินด้วยการวิเคราะห์ภาพจากเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้างานวิจัยเชิงลึกด้านพยาธิสรีรวิทยาของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียทั้งในแง่กลไกทางพันธุกรรม อุบัติการณ์ สาเหตุ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
ซึ่งผลงานดังกล่าวได้ถูกปรับใช้ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยา และโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ยังเป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างต้นแบบรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน (รถตรวจหาเชื้อโควิด 19) อีกด้วย
“ในปัจจุบันกำลังทำโครงการวิจัยใหม่ด้วยการถอดวิธีคิดที่ผมใช้ออกมาเป็น AI เพื่อจะนำ AI ตัวนี้มาเป็นตัวแทนของผมยามที่ผมแก่ตัวไปหรือไม่สามารถทำการวิจัยได้อีก ซึ่ง AI สามารถช่วยแพทย์วิเคราะห์ข้อมูลจีโนมิกส์ได้เทียบเท่ากับตัวของผมเอง” นพ.วิปร กล่าว
สำหรับผลงานในแขนงอื่น ๆ ได้รับรางวัล 100,000 บาท ได้แก่
- กมลวัช งามเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลงาน “งานวิจัยขั้นแนวหน้าทางเคมีไฟฟ้าและการประยุกต์ใช้เทคนิคเคมีไฟฟ้าในเซ็นเซอร์ตรวจวัดสารบ่งชี้โรคและสารพิษในสิ่งแวดล้อม” จนนำไปสู่การพัฒนาเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าสำหรับตรวจวัดสารบ่งชี้ทางชีวภาพในตัวอย่างปัสสาวะและน้ำลาย รวมถึงการตรวจวัดสารพิษและสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ
- สุรชัย กาญจนาคม อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผลงาน “การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อใช้ในการผลิตไบโอออยล์และสารเคมี” ที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาคุณสมบัติของไบโอออยล์ที่ไม่เสถียร ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสร้างผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ถือเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการพัฒนาประเทศ จากการจัดอันดับของ Nature Index พบว่า ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จาก 115 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 9 ในเขต Asia Pacific จำนวน 28 ประเทศ
และเมื่อพิจารณาในกลุ่มสมาชิก ASEAN 10 ประเทศนั้นพบว่า อันดับที่ 1 คือประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ตามด้วยประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
“เราต้องมุ่งเน้นพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้าที่ตอบสนองความต้องการของประเทศและสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัจจุบันในด้านต่าง ๆ อาทิ Energy and Environment, Biotechnologies, Advanced Functional Materials, และ Advanced Digital Technologies เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เราต้องสร้างนักวิจัยที่มีศักยภาพ เพื่อให้เป็นหัวรถจักรชั้นดีในการขับเคลื่อนประเทศ
อีกทั้งเป็นการเพิ่มทุนทางนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับประเทศชั้นนำในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริมและสร้างองค์ประกอบด้านต่าง ๆ ให้พร้อมเพรียง ในแต่ละด้าน
ได้แก่ 1. ส่งเสริมความเป็นเลิศในสาขาวิจัยที่สร้างศักยภาพให้กับประเทศ 2. เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3. สนับสนุนนักวิจัยและผู้นำกลุ่มนักวิจัยขั้นแนวหน้าและ 4. สนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ฯลฯ ที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการ และให้ทันกับการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง” จำรัส ลิ้มตระกูล กล่าว