นวัตกรรมไทยบนชานชาลาที่ 13 | พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ปี 2560 กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศใน 10 ด้าน บนวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” กรอบแนวคิดของแผนฯ มองว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนทุกด้าน โดยเน้นไปที่การแข่งขัน
ในยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม (ววทน.) ได้ตั้งเป้าว่าในปี 2565 ประเทศไทยสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา (Gross Domestic Expenditure on R&D : GERD) สู่ร้อยละ 1.5
ในขณะนี้น่าจะอยู่ระดับร้อยละ 1.14 (จากการสำรวจโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)) และได้ตั้งเป้าเพิ่มเป็นร้อยละ 2 ของ GDP ในปี 2570 แม้จะยังผลักดันไปไม่ถึงเป้า แต่ก็เพิ่มขึ้นมาก
เป้าหมายที่สองซึ่งนับว่าเกินเป้าที่กำหนดไปเยอะนั่นคือ อัตราส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทียบเอกชนกับรัฐโดยกำหนดไว้ 70 : 30
แต่จากรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index : GII) สองปีย้อนหลัง ประเทศไทยได้อันดับหนึ่งของโลกในตัวชี้วัดนี้ ด้วยสัดส่วนระดับ 80 : 20 สะท้อนว่าเอกชนไทยตื่นตัวในการทำกิจกรรมทาง ววทน.เป็นอย่างมาก
ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นข่าวดี แต่แท้จริงแล้วงบประมาณภาครัฐมีสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก และปริมาณงบประมาณของรัฐที่ต้องส่งเสริมการสร้างสะพานเชื่อมปัจจัยทางการวิจัยที่อยู่ระดับเริ่มต้น ซึ่งเสี่ยงสูงมากยังคงจำกัดอยู่
เป้าหมายอีกประการคือ การเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันโครงสร้างพื้นฐาน วทน. (Scientific infrastructure) ให้อยู่ในลำดับไม่เกิน 30 ซึ่งขณะนี้เราอยู่ลำดับที่ 38 (จากรายงานของ The IMD World Competitiveness Ranking 2021)
และเป้าหมายที่สี่คือ สัดส่วนนักวิจัยต่อประชากรซึ่งก็ยังไม่เข้าเป้าเช่นกัน
ภาพรวมแนวทางในแผนฯ 12 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ววทน. เน้นการพัฒนาสภาวะแวดล้อมของ ววทน. การส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนา การผลักดันในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม และการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี
จะเห็นได้ว่าเป้าหมายในแผนฯ 12 นั้น เน้นหนักไปที่สองแนวทางแรก คือ พัฒนากำลังคนและเพิ่มงบวิจัยในทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพัฒนาการของความเป็นผู้ประกอบการทางนวัตกรรมในภาคเอกชนไทยนั้นมีมาก และเป็นจุดแข็งที่ยังขาดทั้งข้อมูลเชิงลึกและแนวนโยบายนวัตกรรม (Innovation policy) สนับสนุนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
ภาพสะท้อนข้างต้นสามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมได้จากพัฒนาการของ GII ที่สะท้อนวิวัฒนาการของระบบนวัตกรรมของไทยใน 3 ประเด็น
1.อันดับความเป็นชาตินวัตกรรมของไทยก้าวกระโดดขึ้นมา 8 อันดับจาก 51 มาอยู่ที่ 43 และอยู่ในอันดับ Top 5 เคียงคู่กับจีน มาเลเซีย บัลแกเรีย และตุรกี
2.อันดับปัจจัยนำเข้า (หรือการลงทุนและลงแรงทางนวัตกรรม) ที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยน ก็เลื่อนลำดับสูงขึ้นเป็นอย่างมากถึง 18 อันดับจาก 65 มาอยู่ที่ 47 จุดเด่นของไทยมี 2 ด้านสำคัญคือ ระบบตลาด (อันดับที่ 27 ของโลก) และระบบธุรกิจ (อันดับ 36 ของโลก) ส่วนอันดับปัจจัยผลผลิตทางนวัตกรรมตกลงมา 3 อันดับ จาก 43 มาอยู่ที่ 46
3.ระบบข้อมูลที่เรายังต้องสร้างนวัตกรรมในการรวบรวม วิเคราะห์ และนำมาใช้กำหนดทิศทางซึ่งยังคงมีความจำกัด
สะท้อนจากระบบนิเวศของสตาร์ตอัปที่มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดผ่านการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของทั้งภาคเอกชนเติบโตขึ้นมาก รวมทั้งกิจกรรมทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาคที่ไม่ได้รับการสำรวจอย่างต่อเนื่อง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) เน้น “การพลิกโฉมประเทศไทย” หลังจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้า ผลจากโควิด-19 สงครามเทคโนโลยี และสงครามยูเครน รวมทั้งภาวะโลกร้อน คือโจทย์ใหญ่ที่ต้องการ “นวัตกรรม” แบบที่ไม่อยู่ในภาวะปกติ
มี 13 หมุดหมายในแผนฯ 13 โดย ววทน.ได้แทรกตัวไปอยู่ทุกหมุดหมาย ในขณะที่เป้าหมายในเชิงระบบนวัตกรรมอาจไม่ชัดเจนนัก จึงขอเสนอแนวทางและเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าไว้คร่าวๆ ดังนี้
1.ระบบการเงินนวัตกรรม (Financing innovation system) จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อ สนับสนุนสตาร์ตอัปเทคโนโลยีชิงลึก (Deeptech startup) ที่สามารถนำงานวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยมาสร้างธุรกิจได้จริง
การสร้างแรงจูงใจให้เกิดนักลงทุนเพื่อสังคม (Impact investor) และการเชื่อมโยงงบประมาณภาครัฐกับกองเงินลงทุนทางนวัตกรรมในบริษัทขนาดใหญ่ และกองทุนข้ามชาติ เพื่อทำให้บริษัทนวัตกรรมไทยเติบโตในตลาดโลกได้อย่างก้าวกระโดด
2.ระบบนวัตกรรมที่เปิด (Openness of innovation system) ตลาดและระบบธุรกิจของไทยที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ควรได้รับการดึงมาเป็นจุดขายและเปิดรับ “นวัตกร” และ “นักลงทุน” จากทั่วโลกให้ประเทศไทย
โดยเฉพาะเมืองนวัตกรรมหลัก เช่น กรุงเทพฯ-อีอีซี เชียงใหม่ ขอนแก่น-โคราช ให้กลายมาเป็น “ฮับนวัตกรรม” ในภูมิภาคเอเชียที่สามารถเชื่อมอินเดียและจีนได้อย่างโดดเด่น
3.ระบบข้อมูลนวัตกรรม (Data-Driven Innovation) เราอาจมองว่า “Soft power” และ “การท่องเที่ยว” เป็นจุดแข็งของไทย แต่หากมองจากตัวชี้วัดหลายตัว ภายใต้ GII จะพบว่า ประเทศไทยได้อันดับค่อนข้างต่ำ ในกลุ่มทั้ง “เนื้อหาในโลกดิจิทัล” (Digital content) และความคิดสร้างสรรค์ และการจัดเก็บข้อมูลด้านนวัตกรรม ซึ่งต้องเร่งมือทำทั้งเอกชนและรัฐ
ปีนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เข้าสู่ปีที่ 13 พร้อมกับการเริ่มต้นของแผนฯ 13 ก็หวังว่า ชานชาลานวัตกรรมที่ 13 จะเป็นเลขนำโชคของระบบนวัตกรรมไทยให้เราก้าวสู่ชาตินวัตกรรม TOP 35 ในปี 2570 เป้าหมายที่อยากให้เป็น “วาระแห่งชาติ”.