ส่องดัชนี 'ไทย-เวียดนาม' นวัตกรรมคนละเบอร์
“เวียดนาม”ประเทศเนื้อหอมที่กำลังจะกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ในอาเซียน มีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องเป็นที่น่าสนใจของบริษัทข้ามชาติที่จะเข้าไปลงทุนที่สูง แต่โดยรวมแล้วหากมองในหลายบริบทจะพบว่า ไทยได้เปรียบมากกว่าในหลายด้านโดยเฉพาะด้านนวัตกรรม
ในฐานะผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ได้วิเคราะห์ถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่แซงไทย ความสามารถทางนวัตกรรมและบริบทความแตกต่างของทั้งสองประเทศ รวมไปถึงกลยุทธ์ที่จะทำให้ไทยสามารถเร่งเครื่องไปให้ไกลกว่าเวียดนาม.....
เริ่มต้นจากรายงานการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ Global Innovation Index (GII) ใน 131 ประเทศ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเวียดนามตีตื้นขึ้นมา 16 อันดับ ส่วนไทยขึ้นมา 9 อันดับ โดยอยู่ในระดับที่ใกล้กัน ส่วน “บลูมเบิร์ก” ก็มีการจัดอันดับนวัตกรรม Bloomberg Innovation Index รวม 60 กว่าประเทศ พบว่า ไทยตีตื้นขึ้นมาจากลำดับที่ 40 สู่ลำดับที่ 36 ส่วนเวียดนามนั้นอยู่ลำดับที่ 55
กลยุทธ์เปิดเสรีการค้า-ลงทุน
พันธุ์อาจ กล่าวว่า หากดูตัวเลขลำดับแล้วการก้าวกระโดดของเวียดนามเหมือนภาพของไทยเมื่อ 30 ปีก่อน หรือในขณะกำลังทำอีสเทิร์นซีบอร์ด หรือ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกใหม่ๆ ที่เปรียบเสมือนยุคทอง
จุดเด่นของเวียดนามคือ การดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตหลัก ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 96 ล้านคน (ปี 2562) อายุน้อยโดยเฉลี่ย 32 ปี ส่วนอายุคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ปี ภูมิประเทศคล้ายตัว S ด้านติดกับคาบสมุทรอินโดจีน เหมาะกับการส่งสินค้าทางทะเล มีอาณาเขตเชื่อมต่อกับประเทศจีนโดยตรงทำให้สะดวกด้านโลจิสติกส์
ส่วนตลาดภายในประเทศยังไม่โตเต็มที่ ถือเป็นโอกาสที่จะยังเติบโตได้อีกมาก จึงเป็นเหตุผลให้ต้นทุนค่าแรงต่ำกว่าไทย 3 เท่า ประกอบกับได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างของระบบห่วงโซ่มูลค่าโลก ที่หลายประเทศย้ายฐานออกจากประเทศจีน ด้วยต้นทุนแรงงานที่ต่ำ และภูมิประเทศที่มีทางออกสู่ทะเล
ทั้งยังมีข้อตกลงทางการค้ากับต่างประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติ อาทิ CPTPP ซึ่งยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับสินค้ากว่า 98% ที่ส่งออกไปยังประเทศสมาชิก และลดภาษีศุลกากรกว่า 99% ระหว่างกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและเวียดนามเป็นระยะเวลาถึง 10 ปี ขณะเดียวกันการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจากต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหม่ ทำให้กฎหมายด้านต่างๆ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่เข้มงวดเท่าไทย อาทิ สิ่งแวดล้อม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎระเบียบต่างๆ ซึ่งถือเป็นจุดหนึ่งในการดึงดูดนักลงทุน
ทางด้านประเทศไทยก็มีศักยภาพพอสมควร เพียงแต่ยังใช้ประโยชน์ตรงจุดนี้ไม่มากนัก ขณะเดียวกันหากมองในมุมของเศรษฐกิจจะพบว่าเศรษฐกิจไทยใหญ่กว่าเวียดนาม 2 เท่าตัว และรายได้ต่อหัวของประชากรไทยมากกว่าเวียดนาม 3 เท่า
ส่วนนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศได้วางรากฐานไว้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งไทยก็ได้มีการจัดทำแผนดำเนินการยุทธศาสตร์ 20 ปี ส่วนเวียดนามก็ได้มีการวางนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโด่ย เหม่ย (Doi Moi) ซึ่งคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเหมือนไทย
มวยต่างรุ่น กระดูกต่างเบอร์
ทั้งนี้ พัฒนาการความสามารถทางนวัตกรรมของไทยและเวียดนามในช่วงที่ผ่านมีแนวโน้มการไต่ระดับความสามารถทางนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันประเทศไทยมีวิวัฒนาการการพัฒนาทางนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด จากการจัดอันดับ GII ซึ่งไทยสามารถไต่ระดับความสามารถมาถึง 9 อันดับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากอันดับที่ 52 ในปี 2559 เป็นอันดับที่ 44 ในปี 2563 ขณะที่เวียดนามไต่ระดับขึ้นมาถึง 16 อันดับ จากอันดับที่ 59 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 42 ในปี 2563
ปัจจัยที่ทำให้ความสามารถทางนวัตกรรมของเวียดนามก้าวกระโดดคือ ปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี และผลผลิตความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าไฮเทค ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไฮเทค ส่วนใหญ่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ส่วนของไทยก็มีความโดดเด่นทางนวัตกรรมสร้างสรรค์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็น Traditional ซึ่งตรงจุดนี้ถือเป็นระเบิดเวลา หากไม่รีบปรับตัวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Process Engineer
จึงถือได้ว่าไทยและเวียดนามยังเปรียบเสมือนมวยคนละรุ่น กระดูกคนละเบอร์ เนื่องจากปัจจัยบ่งชี้รายได้ต่อหัวของประชากรที่สะท้อนอำนาจในการจับจ่ายใช้สอย เพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยยังคงสูงกว่าเวียดนาม ทำให้ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ซึ่งมีทั้งหมด 37 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย รัสเซีย จีน ตุรกี เป็นต้น ขณะที่เวียดนามจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ มี 29 ประเทศ
สิ่งที่ไทยต้องเร่งพัฒนา
พันธุ์อาจ กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้ไทยจึงควรเร่งส่งเสริมและพัฒนาในมิติต่างๆ 1.ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจทั้งกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ 2.พัฒนากลไกการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนในประเทศ ส่งเสริมการลงทุนทางเทคโนโลยี นวัตกรรมในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง 3.พัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ทักษะแรงงานปรับตัวสู่ยุคเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
4.พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม ให้สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในการสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพ สนับสนุนเชิงข้อมูลทางการเงินด้านนวัตกรรม เชื่อมโยงดึงดูดการระดมทุน การร่วมลงทุนจากภาคเอกชน
ประเทศไทยกับเป้าหมายในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับประเทศ หรือทิศทางจากประเทศตัวอย่างที่ไทยสามารถเทียบชั้นหรือพัฒนาได้ในอนาคต
1.ส่งเสริมให้ธุรกิจนวัตกรรมออกไปลงทุนต่างประเทศเพื่อโอกาสทางการตลาดและการก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ และสตาร์ทอัพ ที่สร้างโอกาสในการสเกลอัพ แบบประเทศญี่ปุ่นหรือไต้หวันได้เคยมาลงทุนในไทย
2.การพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณค่าร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เชื่อมโยงพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพ ในธุรกิจต่าง ๆ ยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมของเอสเอ็มอี
3.การสร้างตลาดนวัตกรรมภายในประเทศ เป็นโอกาสในการสร้างตลาดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตลาดภาครัฐและตลาดภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับธุรกิจนวัตกรรมในการเริ่มต้นและเติบโตไปสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมองข้ามในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนามและไทย เพื่อสร้างระบบนวัตกรรมและเศรษฐกิจในภูมิภาคให้มีความแข็งแกร่งและหลากหลายขึ้น สามารถแข่งขันกับประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมได้