รัฐ-เอกชนร่วมขับเคลื่อน Plant-based Food ขานรับเมกะเทรนด์ "อาหารอนาคต"
อาหารอนาคต หรือ Future Food เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ในอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย และถือเป็น “ทางเลือกใหม่” ให้กับผู้บริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพและสนับสนุนกระบวนการผลิตอาหารด้วยแนวทางที่ยั่งยืน
เทรนด์ที่กล่าวถึงกันมากและกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลกคือ กลุ่มโปรตีนทดแทน/โปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant-based Food) และเนื้อเพาะในห้องแล็บ (Cultured Meat) เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์
ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยเคยกล่าวถึงตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Plant-based Food จากผู้ประกอบการไทย เช่น บริษัท Noblegen พัฒนาผลิตภัณฑ์ไข่ผงวีแกนที่ชื่อ EUNITE เพื่อทดแทนแหล่งโปรตีนไข่ที่ได้จากสัตว์
เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงการบริโภคไข่ โดยใช้เชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์โบราณผลิตโปรตีนที่คุณค่าทางโภชนาการที่ดี โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตัดต่อพันธุกรรม
บริษัท Good Catch ผู้ผลิตทูน่าจากพืช โดยใช้ส่วนผสมของโปรตีนจากถั่ว 6 ชนิด และปรุงรสด้วยน้ำมันจากสาหร่าย (Algal Oil) ทำให้คุณค่าอาหารและ รสชาติไม่แตกต่างกับปลาทะเล
บริษัท Beyond Meat พัฒนาเนื้อสัตว์จากพืชโดยใช้สารสกัดจากบีทรูท (Beet Root Extract) ร่วมกับสารจากเมล็ดของต้นคำแสด (Annatto) ที่ให้สีธรรมชาติ ที่มีสีแดง ขณะที่ Impossible Foods ใช้สารสกัดจากปมของรากถั่วเหลือง ซึ่ง สารประกอบนี้มีโครงสร้างคล้ายกับโมเลกุลของไมโอโกลบินที่พบในเนื้อสัตว์
“แพลนต์เบส”เป็นมากกว่าโปรตีนเกษตร
ในรายการเสวนาของ สอวช. นายวรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง MoreMeat โปรตีนจากพืชที่มีเห็ดแครงเป็นวัตถุดิบหลัก กล่าวว่า “แพลนต์เบส” ไม่ใช่เทรนด์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะในไทยมีนวัตกรรมอาหารจากพืชมานานแล้ว แรกเริ่มเรียกว่าโปรตีนเกษตร เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากถั่วเหลืองที่มีโปรตีนสูง แต่ปรุงอาหารยาก
จึงมีการพัฒนามาจนถึงปัจจุบันที่เรียกว่า“แพลนต์เบส มีท” นวัตกรรมอาหารที่ดัดแปลงโปรตีนจากพืชมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโภชนาการหลากหลาย เช่น วิตามินบี 12 กรดอะมิโน ธาตุเหล็ก รวมถึงแคลเซียมทัดเทียมกับเนื้อสัตว์
แพลนต์เบสนอกจากการดึงโปรตีนมาใช้ ยังมีนวัตกรรมการให้ความเย็นฉับพลันเพื่อน็อคคุณค่าทางโภชนาการอาหารให้มีคุณภาพสูงสุดตั้งแต่โรงงานที่ผลิตจนถึงมือผู้บริโภค
ทำให้ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาสนใจแพลนต์เบส มีทมากขึ้น เพราะสามารถใช้ปรุงอาหารได้หลากหลาย ทานแล้วอิ่ม และมีคุณค่าทางโภชนาการครบหมู่
"แพลนต์เบสไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่จะเป็นสิ่งที่มีตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ปัจจุบันคนสามารถเลือกทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และมีโปรตีนจากพืชเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นได้
ดังนั้น สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้ผู้บริโภค และในปี 2565 เวลาสอนเด็กรุ่นใหม่ก็ต้องบอกว่าโปรตีนได้จากเนื้อ นม ไข่และพืชด้วย" นายวรกันต์ กล่าว
หากพูดถึงเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร แพลนต์เบสฟู้ดสามารถตอบโจทย์องค์ประกอบได้ครบทุกประเด็น ทั้งด้านการได้รับอาหารที่เพียงพอ เพราะผลิตจากพืชและวัตถุดิบที่หาได้ในประเทศถึง 80%
ด้านการเข้าถึงอาหารได้ง่าย ราคาจำหน่ายเป็นธรรม ช่องทางการซื้อครอบคลุม ด้านการใช้ประโยชน์จากอาหาร มีคุณค่าทางอาหารที่ดีและปลอดภัย การผลิตถูกสุขอนามัย มีมาตรฐาน อย.
รวมถึงด้านของการมีเสถียรภาพด้านอาหาร เนื่องจากเห็ดแครงเป็นวัตถุดิบหลักของ MoreMeat ปลูกในประเทศ มีผลผลิตทุก 2 สัปดาห์ ไม่มีตัวแปรเรื่องอากาศ สภาพแวดล้อมทางภูมิภาคต่างๆ
เพราะปัจจุบันใช้การปลูกภายในโรงเรือนแทนการปลูกตามธรรมชาติ จึงสามารถควบคุมมาตรฐานและปลูกได้ตลอดปี ต่างจากเนื้อสัตว์ที่มีปัญหาหลายด้าน ทั้งความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้นสวนทางพื้นที่ทำปศุสัตว์ที่มีจำกัด ทำให้เสถียรภาพทางอาหารของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ลดลง
อย่างไรก็ตาม รัฐควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องเครื่องมือ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารใหม่ๆ ในมุมของกลุ่มที่เป็นสตาร์ตอัป ด้านอุตสาหกรรมอาหาร เรื่องเครื่องจักรเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่และมีมูลค่าสูง
หากรัฐจะสามารถช่วยจัดหาเครื่องมือ หรือให้บริการในราคาที่ถูก จะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ในแง่การพัฒนาสินค้าเพิ่มเติม หรือเพิ่มรูปแบบสินค้าให้หลากหลายขึ้น อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของการส่งเสริมการตลาดที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเติบโตในธุรกิจได้ง่ายขึ้น
มหิดลนำร่องวิจัย “เนื้อจากแล็บ”
Cultured Meat เนื้อสัตว์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เป็นหนึ่งในอาหารทางเลือกใหม่ (Novel food) ที่กำลังน่าจับตา โดยหวังให้มาทดแทนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ในระบบปศุสัตว์
รศ.เทวัญ จันทร์วิไลศรี อาจารย์จากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
กระทั่งสามารถพัฒนาสารเร่ง และสารเสริมการเจริญเติบโตซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการผลิต Cultured Meat ในห้องปฏิบัติการขึ้นเองเป็นครั้งแรก
กระบวนการผลิต Cultured Meat สามารถออกแบบได้ตามต้องการของผู้บริโภค ทั้งรูป รส กลิ่น สี และสัมผัส โดยไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตราย และสามารถเติมคุณค่าทางอาหารได้ตามความต้องการ ซึ่งแผนการวิจัยการเพาะเลี้ยงเนื้อสุกรในห้องปฏิบัติการคาดว่าจะเสร็จภายในอีก 2 ปีข้างหน้า
ทีมงานหวังให้เป็นต้นแบบเพื่อนักวิจัยไทยรุ่นใหม่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดพัฒนาสู่การเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ในห้องปฏิบัติการได้ต่อไป
การวิจัยครั้งนี้ จึงนับเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะเริ่มมีภาคเอกชนให้ความสนใจ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จะทำให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารจากการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม เนื้อสัตว์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเป็นไปอย่างมีทิศทาง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยต่อไปได้มากที่สุด
ภาครัฐพร้อมดัน“ฟู้ดเทคสตาร์ตอัป”
นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กล่าวว่า NIA ตั้งเป้าหมายที่จะบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของธุรกิจด้านเทคโนโลยีอาหาร หรือ FoodTech เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
พร้อมแก้ปัญหา 9 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ โปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอัจฉริยะ บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต ส่วนผสมและอาหารใหม่ วัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพความปลอดภัยของอาหาร และการบริการอัจฉริยะด้านอาหาร
ในทุกการเกิดขึ้นของสตาร์ตอัปและนวัตกรรม มักจะทำให้ทุกคนได้เห็นสิ่งใหม่ที่มีมูลค่าหรือโซลูชันที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงเป้า
นอกจากการปั้นสตาร์ตอัปเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารแล้ว เอ็นไอเอยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันกรุงเทพมหานครให้เป็น “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์”หรือ“ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับโลก”
เป็นจุดพบปะของสตาร์ตอัปและนักลงทุนในพื้นที่แห่งเทคโนโลยีอาหารขั้นสูง (ดีพเทค) และเป็นแลนด์มาร์คแห่งการพัฒนาวัตถุดิบที่มีในประเทศให้เกิดมูลค่าสูงขึ้น
ด้าน นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. กล่าวว่า สอวช.ได้จัดตั้ง "เมืองนวัตกรรมอาหาร"
โดยออกแบบให้เป็นแพลตฟอร์มในการให้บริการภาคเอกชนไว้ค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การผลิต การขอขึ้นทะเบียนกับ อย. และปัจจัยเรื่องการตลาดด้วย
ในเรื่องของสถานที่ผลิต มีเครือข่ายอยู่กับ 15 มหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ด้วย สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม มีการจัดตั้ง OEM โรงงานขนาดเล็กของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการผลิตให้กับภาคเอกชน เพื่อให้ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานเองในช่วงแรก
ด้านโปรตีนทางเลือกจะทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการปรับปรุงที่จะให้ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ส่วนของการตลาด มีความร่วมมืออยู่กับโมเดิร์นเทรดหลายรายในการพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเติบโตสูง
มูลค่าทางการตลาดโปรตีนจากพืช
ทั้งนี้ เทรนด์อาหารโปรตีนจากพืช ทั่วโลกให้การยอมรับอาหารโปรตีนจากพืชหรือแพลนต์เบสต์ (Plant Based) มากขึ้น จนก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในอาหารกระแสหลัก ซึ่งมีการเติบโตและการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ต้องการดูแลรักษาสุขภาพและลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง โดยมีการคาดการว่า ตลาดโปรตีนจากพืชทั่วโลกจะมีอัตราเติบโตในปีนี้อยู่ที่ 44,200 ล้านดอลลาร์
ส่วนประเทศไทยข้อมูลจาก Euro Stat ระบุว่า ปี 65 คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 40,000 ล้านบาท ทำให้วันนี้ผู้ประกอบการอาหารของไทยต่างพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสต์เข้าสู่ตลาดไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ได้รับความนิยม คือ Plant-based meat, Plant-based meal และ Plant-based egg.