ดาวโจนส์ดิ่งเหว 939 จุดก่อนปิดฉากหุ้นตกหนักเดือนเม.ย.
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(29เม.ย.)ร่วงลงอย่างหนัก 939 จุดในการซื้อขายวันสุดท้ายของเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลงอย่างหนัก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวร่วงลง 939.18 จุด หรือร่วงลง 2.8% ปิดที่ 32,977.21 จุด
ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 3.6% ปิดที่ 4,131.93 จุด
ดัชนีแนสแด็กดิ่งลงเกือบ 4.2% ปิดที่ 12,334.64 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้นกว่า 600 จุดวานนี้ ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งช่วยบดบังปัจจัยลบจากรายงานที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.4% ในไตรมาส 1/65 สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 1.1%
บริษัทจดทะเบียนราวครึ่งหนึ่งในดัชนีเอสแอนด์พี 500 รายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกแล้ว โดย 80% ในจำนวนดังกล่าวมีกำไรสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ปรับตัวย่ำแย่ในเดือนเม.ย. โดยได้รับผลกระทบจากความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น, การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), การทำสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 3% นับตั้งแต่ต้นเดือนนี้
ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ดิ่งลงมากกว่า 7% และมีแนวโน้มทำสถิติเป็นเดือนที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งขณะนั้นสหรัฐเริ่มเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนดัชนีแนสแด็กทรุดตัวลง 11% และมีแนวโน้มทำสถิติเป็นเดือนที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2551
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 3-4 พ.ค. ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เขาสนับสนุนให้เฟดดำเนินการเร็วขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ และระบุว่ามีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ค. ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543
นอกจากนี้ ตลาดยังกังวลว่าเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยแรงขึ้นหลังเดือนพ.ค. โดยอาจปรับขึ้น 0.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2525
เมื่อเทียบรายเดือน ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ดีดตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 0.5% ในเดือนก.พ.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 5.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 5.3% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ