‘ค่าครองชีพแพง’ปัญหาท้าทายตลาดแรงงานโลก
‘ค่าครองชีพแพง’ปัญหาท้าทายตลาดแรงงานโลก ขณะผลสำรวจล่าสุดบ่งชี้บริษัทญี่ปุ่นเกือบ50%เตรียมขึ้นราคาสินค้าใน 1 ปีเพราะต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นจาการระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามยูเครน
มนุษย์เงินเดือนทั่วโลกที่กำลังเผชิญปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพสูงเกิน พากันออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลในประเทศของตัวเองเนื่องในวันแรงงานสากล เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่กรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ มีประชาชนกว่า 10,000 คน ออกมาเดินขบวนกันที่ใจกลางเมือง และรวมตัวกันด้านหน้าของอาคารรัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลรีบแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน จนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนใช้แรงงาน แทบจะอยู่ไม่ได้แล้ว
แม้รัฐบาลกรีซจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วสองครั้งในปีนี้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ค่าแรงขั้นต่ำในกรีซถูกปรับขึ้นมาเป็น 713 ยูโร หรือประมาณ 26,000 บาท ต่อเดือน แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับค่าไฟและค่าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
ส่วนที่ฝรั่งเศส มีการประท้วงเกิดขึ้นทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่สูงขึ้น พร้อมต่อต้านแผนเพิ่มอายุเกษียณการทำงานของประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง
แม้การประท้วงในหลายเมืองจะเป็นไปด้วยความสงบ แต่การประท้วงในกรุงปารีส เกิดความรุนแรง มีการปาก้อนหิน ทุบตีหน้าต่างของร้านค้า เผาถังขยะ มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเจ้าหน้าที่ต้องยิงแก๊สน้ำตาเพื่อควบคุมฝูงชน มีผู้ประท้วงถูกจับกุม 54 คน มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 8 นาย
การประท้วงวันแรงงานในฝรั่งเศสเกิดขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดี ถูกมองว่า มีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีมาครง อาจเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากในการดำรงตำแหน่งวาระที่ 2
ขณะที่พรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคขวาจัดและซ้ายจัดกำลังหาวิธีทำลายโอกาสในการถือครองเสียงข้างมากของรัฐบาล ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสที่จะมีขึ้นในเดือนมิ.ย.นี้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานการเดินขบวนในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี มีการขัดขวางการกล่าวถ้อยแถลงต่อสหภาพแรงงานของนายกเทศมนตรีกรุงเบอร์ลินด้วยกันปาไข่ใส่แต่โชคดีที่ไม่โดน ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของผู้ประท้วงที่อยู่ในที่เกิดเหตุ
ตามปกติแล้ว วันแรงงานจะเป็นเวลาที่แรงงานในยุโรปมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมสูง แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาการประท้วงถูกจำกัด เนื่องจากข้อห้ามในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การประท้วงยังเกิดขึ้นในตุรกี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ประท้วง 164 คนที่ออกมาประท้วงโดยไม่ได้มีการขออนุญาตตามกฎหมาย
ส่วนที่รัสเซียได้มีการจัดคาราวานรถข้ามประเทศจากกลุ่มสหภาพแรงงาน เพื่อแสดงการสนับสนุนการรุกรานยูเครน โดยขบวนรถดังกล่าว ซึ่งมีรถเข้าร่วม 70 คัน ที่เป็นตัวแทนของภูมิภาคทั้งหมดในรัสเซีย เดินทางมาถึงกรุงมอสโก ในวันที่ 1 พ.ค.ในเวลาเดียวกัน ทั้งยังมีรายงานการจับกุมผู้ประท้วงทั้งที่เป็นกลุ่มต่อต้านและสนับสนุนการทำสงครามในรัสเซียด้วย
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นรวมถึงความวิตกกังวลว่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามในยูเครน ทำให้เกิดความไม่พอใจไปทั่วโลก
ส่วนในกรุงสโกเปีย เมืองหลวงของประเทศมาซิโดเนียเหนือ แรงงานหลายพันคนรวมถึงผู้ว่างงานและผู้ที่เกษียณอายุ ร่วมกันเดินขบวนอย่างสงบพร้อมกับเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงและเคารพสิทธิของแรงงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้น 8.8% ในเดือนมี.ค. ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 14 ปี
ที่อเมริกาใต้ มีการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงและสิทธิ สวัสดิการของแรงงานให้ดีขึ้นกว่าเก่า ทั้งในอาร์เจนตินา โบลิเวีย เปรู และ เวเนซุเอลา ซึ่งผู้มาร่วมเดินขบวนบอกว่าผู้ใช้แรงงานนับว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจ เพราะต้องเสียสละทำงานหนัก แลกกับค่าแรงที่ถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลความเป็นอยู่และสภาพการทำงานของคนใช้แรงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม
เมื่อพูดถึงค่าครองชีพที่แพงขึ้น ล่าสุด มีข่าวว่าบริษัทญี่ปุ่นเกือบ50%เตรียมขึ้นราคาสินค้าใน 1 ปี โดยผลสำรวจพบว่า บริษัทญี่ปุ่นกว่า 40% เตรียมขึ้นราคาสินค้าหรือบริการภายใน 1 ปี เพราะต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นจาการระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามยูเครน ตามหลังอีเกียที่ประกาศเมื่อต้นปีขึ้นราคาสินค้า 9% เพื่อรับมือต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาซัพพลายเชน
บริษัทเทอิโกกุ ดาตาแบงก์ สอบถามบริษัทในญี่ปุ่น 1,885 แห่งช่วงต้นเดือนเม.ย.พบว่า 43.2% ได้ขึ้นราคาในเดือนเม.ย.หรือเตรียมขึ้นราคาภายในสิ้นเดือนมี.ค.ปีหน้า แต่หากรวมบริษัทที่ขึ้นราคาไปแล้วตั้งแต่เดือนต.ค.ปีก่อนถึงเดือนมี.ค.ปีนี้ ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 64.7% ของบริษัทที่สำรวจทั้งหมด
ขณะที่ 16.4% ระบุว่า ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ลูกค้าแม้ว่าต้องการทำก็ตาม และมีเพียง 7.4% เท่านั้นที่ยืนยันว่าจะไม่ขึ้นราคาสินค้าภายใน 1 ปี
ญี่ปุ่นเผชิญภาวะเงินฝืดมานาน แต่บริษัทต่าง ๆ ต้องขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ เนื่องจากโรคโควิด-19 และสงครามยูเครนทำให้ทุกอย่างขึ้นราคาไปหมด
ทั้งยังถูกซ้ำเติมจากเงินเยนอ่อนค่าลงมาก ทำให้สินค้านำเข้าราคาแพงขึ้น ผลสำรวจบ่งชี้ว่า ธุรกิจด้านอาหาร โลหะ สารเคมี พร้อมขึ้นราคา แต่ธุรกิจที่มีการแข่งขันด้านราคาสูงอย่างการขนส่ง การโรงแรม ยังลังเลใจ เพราะวิตกกังวลว่าจะเสียลูกค้า