จะเกิดอะไรถ้า “ปูติน - เซเลนสกี” เผชิญหน้าใน G20
เมื่อสถานการณ์ท้าทายระดับภูมิภาคระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจ่อปากประตูเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว และมีความเป็นไปได้ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูตินกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เผชิญหน้ากันในการประชุมผู้นำ G20 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย
ถึงนาทีนี้ "อินโดนีเซีย" อาจค้นพบว่ากำลังติดอยู่ระหว่างโขดหินที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้อิเหนาตกที่นั่งลำบาก หลังจากตัดสินใจเชิญผู้นำสองประเทศเข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20) ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากสหรัฐและยุโรปที่ไม่ต้องการให้ผู้นำรัสเซียร่วมเวทีเดียวกันกับพวกเขา
เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ วิเคราะห์ว่า ระยะเวลาจากนี้ไปจนถึง พ.ย.2565 ในทางการเมืองระหว่างประเทศยาวนานมาก ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์และแรงกดดันที่มีต่อรัสเซีย ที่กำลังแผ่ครอบคลุมไปถึงอินโดนีเซียด้วย ตราบใดที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ยังไม่ยกเลิกตั๋วเชิญประธานาธิบดีปูติน ผู้สั่งให้มีปฏิบัติการทางทหารโจมตียูเครนนานกว่า 2 เดือนแล้ว
มองในมุมอินโดนีเซีย มีความหวังจะกอบกู้สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก โดยใช้เจรจาการทูตช่วยไกล่เกลี่ย แม้ว่ายูเครนจะไม่ใช่ประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 แต่ก็ได้รับเชิญเข้าร่วมฟอรัมทางเศรษฐกิจนี้ ซึ่งเป็นเวทีมีบทบาทสำคัญต่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกกระตุ้นการเติบโต ปฏิรูปและปรับปรุงระบบการเงินระหว่างประเทศ
"ผมได้พูดคุยกับประธานาธิบดีโจโกวี ขอบคุณที่เชิญเข้าร่วมการประชุม G20" ประธานาธิบดีเซเลนสกีทวีตข้อความ
ทำเนียบเครมลินเผยว่า ประธานาธิบดีปูตินมีแผนเดินทางเข้าร่วมการประชุมนี้ด้วยตัวเอง หลังจากนั้นไม่นาน ปูตินเองก็ได้โทรศัพท์สายตรงยืนยันกับโจโกวีว่าจะเข้าร่วมแน่นอน ส่วนเซเลนสกียังไม่ได้พูดชัดเจนว่าตั้งใจไปด้วยตัวเองหรือไม่ บอกเพียงว่า รัฐบาลจาการ์ตาสนับสนุนความพยายามทุกด้าน เพื่อผลักดันให้ “การเจรจาสันติภาพ” ประสบความสำเร็จ พร้อมกับให้ “ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม”
คำเชิญดังกล่าวมีขึ้นหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า หากอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับการกีดกันรัสเซียจากเวทีนี้ ดังนั้นยูเครนก็ควรเข้ามาร่วมด้วย
เมื่อเทียบสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อินโดนีเซียกำลังเจอแรงกดดันคล้ายกับสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แอบบ็อตต์ ของออสเตรเลียที่เชิญปูตินเข้าร่วมประชุม G20 ที่บริสเบน หลังรัสเซียยึดไครเมียและเหตุเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ MH17 ถูกยิงตกในยูเครน ในปี 2557
แหล่งข่าวในวงการทูตเล่าว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกำลังชวนเพื่อนสมาชิก G20 หารือเป้าหมายการประชุมที่ให้โฟกัสไปที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการระบาดใหญ่ ที่เป็นหัวใจสำคัญในวาระการประชุม มากกว่าคร่ำเคร่งกับสถานการณ์แบ่งขั้วและเลือกข้าง ที่อาจบดบังความร่วมมือต่างๆ
ถึงอย่างไร การถอดรัสเซียออกจากการประชุม G20 ก็ต้องได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิก รวมถึง "จีน" ก็เป็นประเทศหนึ่งที่อาจโดนหางเลข ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านสนิทรัสเซีย แต่ก็ต้องมองให้ลึกซึ้ง เพราะเป็นแค่เพียงแผนถ่วงเวลาหาทางออกของอินโดนีเซียหรือไม่