ตรวจแถว'มหาอำนาจ'ร่วมเอเปค-วัดพลังการทูตไทย

ตรวจแถว'มหาอำนาจ'ร่วมเอเปค-วัดพลังการทูตไทย

ตรวจแถว'มหาอำนาจ'ร่วมเอเปค-วัดพลังการทูตไทย ซึ่งกว่าจะถึงช่วงเวลาการจัดประชุมผู้นำเอเปค พ.ย. คาดสถานการณ์ยูเครนจะมีพัฒนาการต่างๆอีกมาก และผลกระทบเศรษฐกิจจะขยายเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโจทย์ใหญ่ให้ไทยต้องวางแผนอย่างรอบคอบ

ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ในวันที่ 18-19 พ.ย. มีคำถามกันมาว่า "มหาอำนาจและสมาชิกใดบ้างจะมาร่วมประชุม" ดูเหมือนเป็นคำถามที่กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อยากตอบในเวลานี้

อดีตเอกอัครราชทูตไทยที่ได้รับการยอมรับในวงการต่างประเทศและเชี่ยวชาญวิเคราะห์สถานการณ์โลก กล่าวว่า สถานการณ์ระดับภูมิภาคอย่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงเป็นปัจจัยท้าทาย และมีผลต่อการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ไม่น้อย ชนิดพูดได้ว่าทั่วโลกไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบ หลังรัสเซียเข้ารุกรานยูเครนนานกว่า 2 เดือน

จากนั้นสหรัฐ ชาติตะวันตก และอีกหลายประเทศประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ตามมาด้วยมาตรการตอบโต้ระหว่างกัน นำไปสู่สถานการณ์พลังงาน ราคาน้ำมัน และความมั่นคงทางอาหาร ตอกย้ำปัญหาทางเศรษฐกิจให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ท่ามกลางความพยายามของทั่วโลกมุ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 
 

กระแสแรงขึ้น เมื่อประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ได้เชิญ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน เข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (จี20) ที่เกาะบาหลี ระหว่างวันที่ 15 -16 พ.ย. ซึ่งทางผู้นำรัสเซียก็ตอบรับ เลยพาให้เกิดนำมาเปรียบเทียบว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ประธานาธิบดีปูตินจะร่วมการประชุมเอเปคของไทยด้วย

"อินโดนีเซีย" รับแรงกดดันการเมืองระหว่างประเทศ 

อดีตทูตคนเดิมวิเคราะห์ว่า แต่นั้นต้องพร้อมยอมรับความเสี่ยง ซึ่งตอนนี้กระแสเริ่มตีกลับไปยังอินโดนีเซีย เพราะสหรัฐและชาติตะวันตกต่างไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นในการเชิญประธานาธิบดีปูตินมาร่วมเวทีเดียวกันกับพวกเขา โดยเมื่อเดือนที่แล้วประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า หากอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับการกีดกันรัสเซียจากเวทีนี้ ดังนั้นยูเครนก็ควรเข้ามาร่วมด้วย ขณะที่ผู้นำอินโดนีเซียได้แก้เกรี้ยวด้วยการเชิญประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีเข้าร่วมด้วย แม้ว่ายูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกจี20  แต่ก็อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างผู้นำรัสเซียและผู้นำยูเครน

"อินโดนีเซีย ประเทศที่มากด้วยประสบการณ์การทูตและเชี่ยวชาญเจรจาสันติภาพ ตอนนี้กำลังเผชิญแรงกดดันหลายด้าน โดยเฉพาะต้องรับมือกับการเล่นการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังบดบังความร่วมมือจี20 เพียงเพราะจุดเริ่มต้น อินโดนีเซียมีเจตนาใช้การทูตช่วยเจรจาคลี่คลายสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเท่านั้น" อดีตทูตกล่าว

และเสริมว่า นั่นไม่ได้หมายความว่า การใช้เวทีระหว่างประเทศมาเป็นส่วนหนึ่งการไกล่เกลี่ยสถานการณ์ความขัดแย้งจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป

 

ตรวจแถว\'มหาอำนาจ\'ร่วมเอเปค-วัดพลังการทูตไทย

สงสัย "ปูติน" รวมเอเปคที่ไทย

ส่วนประเทศไทยจะมีโอกาสจัดประชุมระดับผู้นำเอเปค แบบพบหน้ากันเต็มรูปแบบ (physicalmeeting) ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตั้งใจให้เป็นเวทีการประชุมแรก หลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นานกว่าสามปีหรือไม่นั้น ในระหว่างนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศก็ทำงานและเตรียมการต้อนรับผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

ผู้นำญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” ร่วมประชุมเอเปค

“ธานี แสงรัตน์” อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในการเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เมื่อวันที่ 1-2 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางผู้นำญี่ปุ่นแสดงพร้อมจะเดินทางมาร่วมประชุมผู้นำเอเปคในปลายปีนี้ โดยญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ที่มีความสอดคล้องแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่ไทยชูให้ความสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

ขณะที่ก่อนหน้านี้ "มุน ซึง-ฮย็อน" เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่จะเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปคด้วย โดยถือเป็นโอกาสการเยือนไทย ในฐานะประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด

ประยุทธ์” เตรียมเทียบเชิญ “ไบเดน” ร่วมเอเปค

"เชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์" อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กล่าวว่า ในการเยือนสหรัฐของพล.อ.ประยุทธ์เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ที่กรุงวอชังตัน จะเป็นโอกาสให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวเชื้อเชิญประธานาธิบดีโจ ไบเดน มาร่วมประชุมผู้นำเอเปคด้วยตนเอง โดยที่เวทีเอเปคก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสหรัฐ เพราะจะต้องรับไม้เป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 ต่อจากประเทศไทย

ปกติการประชุมระหว่างประเทศย่อมมีประเด็นอื่นๆเข้ามาแทรก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยได้ประเมินไว้แล้ว และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งสำคัญคือเจ้าภาพต้องโฟกัสไปที่ความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์ระหว่างกัน

โดยเฉพาะประเด็นที่ไทยมุ่งเน้นเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเชื่อมต่อการเดินทางหลังการระบาดใหญ่ จึงเชื่อว่า หลายๆประเทศต้องการเห็นสันติภาพกลับคืนสู่ยูเครน มากกว่าการเผชิญหน้า เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่อาจทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อฟื้นตัวจากระบาดโควิด-19 ได้เลย

ถึงอย่างไร ในทางการเมืองระหว่างประเทศอีก 7 เดือนข้างหน้า กว่าจะถึงช่วงเวลาการประชุมผู้นำเอเปคในเดือน พ.ย. คาดว่าสถานการณ์ยูเครนจะมีพัฒนาการต่างๆอีกมาก และผลกระทบจะขยายเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโจทย์ใหญ่ให้ไทยต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และรับมือกับการเมืองระหว่างประเทศ