ดาวโจนส์ทรุด 653 จุดกังวลจีนล็อกดาวน์สกัดโควิด
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(9พ.ค.)ปรับตัวร่วงลง 653 จุด ลดลงต่อเนื่องจากที่ร่วงลงในสัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางความกังวลจีนล็อกดาวน์สกัดโควิด-19 และแนวโน้มเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 653.67 จุด หรือ 1.99% ปิดที่ 32,245.70 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 132.10 จุด หรือ 3.20% ปิดที่ 3,991.24 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 521.41 จุด หรือ 4.29% ปิดที่ 11,623.25 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลง 0.24% ในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 0.21% ส่วนดัชนีแนสแด็ก ดิ่งลง 1.54% โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน ส่วนดัชนีอสแอนด์พี 500 และดัชนีแนสแด็ก ร่วงลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังคงถูกกดดันในวันนี้จากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี สู่ระดับ 3.185% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลงในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงเช่นกัน ตามการดิ่งลงของราคาน้ำมันในวันนี้
นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิ.ย. แม้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่าเฟดยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงขนาดนั้นก็ตาม
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 19% เมื่อเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมมากกว่า 2.00% ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแตะระดับ 2.85% ในช่วงสิ้นปีนี้
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันพุธนี้ ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมเดือนมิ.ย.