อาหารราคาแพง ผู้ดีอังกฤษต้องอดมื้อกินมื้อ
ผลสำรวจชี้ ชาวอังกฤษหนึ่งในสี่ต้องใช้วิธีงดเว้นอาหารบางมื้อ หลังเจอแรงกดดันเงินเฟ้อ และวิกฤติอาหารเลวร้ายลง ผสมผสานกับแนวโน้มน่าหวาดวิตกที่ธนาคารกลางเตือนผู้บริโภค
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานผลสำรวจล่าสุดเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (17 พ.ค.) จัดทำโดย Ipsos และสกายนิวส์ จากชาวอังกฤษ 2,000 คน พบว่าประชาชนในสหราชอาณาจักรกว่าสี่ในห้ากังวลเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกขณะ จนเกรงว่าในไม่กี่เดือนข้างหน้าอาจไม่มีปัญญาหาซื้อสินค้าจำเป็นพื้นฐานอย่างอาหาร และพลังงาน, 89% กังวลเรื่องวิกฤติค่าครองชีพกระทบประเทศชาติโดยรวมในช่วงหกเดือนข้างหน้า, 83% กังวลสถานการณ์ส่วนตัว
ในภาพกว้างทั่วประเทศเป็นไปในทำนองเดียวกัน คนที่รายได้ต่ำกังวลรุนแรงยิ่งกว่า คนที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 ปอนด์กว่าครึ่งบอกว่า “กังวลมาก” ว่าปีนี้พวกเขาจะจบลงอย่างไร เทียบกับกลุ่มรายได้ 55,000 ปอนด์ขึ้นไป จำนวนสองในห้า รู้สึก “กังวลมาก”
ข้อค้นพบดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กล่าวกับคณะกรรมาธิการการคลัง สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันจันทร์ (16 พ.ค.) ว่า ปัญหาอาหารขาดแคลน และราคาสูงผลจากสงครามในยูเครน เป็นความกังวลที่แท้จริงสำหรับอังกฤษ และหลายพื้นที่ของโลก
“สถานการณ์ยังไม่แน่นอนอยู่มาก ขออภัยสำหรับช่วงเวลาของวันสิ้นโลกแต่นั่นคือ ความกังวลใหญ่” ผู้ว่าการฯ บีโออี กล่าว
ในเดือนเม.ย. เงินเฟ้ออุปโภคบริโภคของอังกฤษทะลุ 5.9% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2554 ในภาพรวมเงินเฟ้อสหราชอาณาจักรสูงสุดในรอบ 30 ปีที่ 7% เนื่องจากราคาพลังงานพุ่งสูง เมื่อวันอังคาร (17 พ.ค.) ร้านค้าปลีก “มาร์กแอนด์สเปนเซอร์” เตือนว่า เงินเฟ้อราคาอาหารอาจพุ่งต่อถึง 10% ภายในสิ้นปีนี้
ความกังวลเรื่องอาหารขาดแคลนเพิ่มมากขึ้นช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากสงครามในยูเครนซ้ำเติมวิกฤติซัพพลายเชนอาหารที่มีอยู่ก่อนแล้ว ยูเครนที่ถูกมองว่าเป็น “ตะกร้าขนมปังของยุโรป” ไม่สามารถส่งออกธัญพืช ปุ๋ย และน้ำมันพืชได้ ขณะเดียวกันการสู้รบที่กำลังดำเนินอยู่ทำลายแหล่งเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวตามปกติ
เอ็มเอชพี บริษัทผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่สุดของยูเครน ทั้งยังเป็นผู้จัดหาธัญพืชและน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งเพิ่มวิกฤติการเกษตร
นายจอห์น ริช ประธานบริหารเอ็มเอชพี ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า เขาไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน
“เรามีโควิด เรามีสงคราม เรามีนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ที่ทำให้การขนส่งสินค้าแทบเป็นไปไม่ได้เลย แล้วเราก็ยังมีโลกร้อน ทั้งหมดผสมกันเล่นงานระบบซัพพลายเชนโลกที่ทำงานไม่ได้”
ด้านสหรัฐและสหภาพยุโรป กล่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กำลังหาทางปรับปรุงซัพพลายเชนอาหาร และฟันฝ่าข้อจำกัดการส่งออก หลังจากอินเดียประกาศเมื่อวันเสาร์ (14 พ.ค.) ห้ามส่งออกข้าวสาลี เพื่อ “จัดการความมั่นคงทางอาหารโดยรวมของประเทศ” ก่อนหน้านั้นอินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม องค์ประกอบสำคัญในสินค้าอาหารหลายอย่าง เพื่อควบคุมปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มในประเทศ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์