“ผช.รมว.ส่งเสริมการลงทุนซาอุฯ” ประทับใจ “ดอน - นักธุรกิจไทย” แล้วมาใหม่นะ
"ผู้ช่วยรัฐมนตรีส่งเสริมการลงทุนซาอุดีอาระเบีย" เผย รู้สึกประทับใจ "รองนายกฯ ดอน" นำคณะธุรกิจชั้นนำของไทย เดินทางเยือนกระชับมิตรภาพ และความร่วมมือเศรษฐกิจ การค้า 2 ประเทศ ขณะที่ดอน ชี้การเชื่อมสัมพันธ์ภาคธุรกิจครั้งนี้กำหนดมาตรฐานไว้ หวังไม่ลดหลั่นกว่านี้
ในการเดินทางกลับประเทศไทย ของคณะนักธุรกิจไทยนำโดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเย็นวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา นายคาหลิด อับดุลอะซีซ อัลฟาลิฮ์ (Mr. Khalid Abdulaziz Al-Falih) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้แทนระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย เดินทางตรงจากกรุงริยาด เพื่อมาส่งคณะของไทยที่ท่าอากาศยานเมืองเจดดาห์ เป็นการเฉพาะ
ระหว่างนั้น ผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจ ได้มีโอกาสสนทนากับนาย Badr Albadr ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงส่งเสริมการลงทุนซาอุดีอาระเบีย โดยเนื้อหาบางช่วงบางตอน ระบุว่า "ผมรู้สึกประทับใจต่อความตั้งใจของนายดอนอย่างยิ่ง ในการนำคณะนักธุรกิจไทยชั้นนำของประเทศ และบุคคลระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวกับทางเศรษฐกิจได้มาทำความรู้จัก แบ่งปันประสบการณ์ และสร้างคอนเนคชันกันไว้ เพื่อความร่วมมือที่จะมีมากขึ้นในเร็วๆนี้
นาย Albadr ได้แสดงความหวังว่า นายดอน นักธุรกิจ และผู้แทนจากบริษัทต่างๆ ของไทยจะเดินทางกลับมายังซาอุดีอาระเบียอีกหลายๆ ครั้ง ขอให้คิดว่า ที่นี่เป็นจุดนัดพบระหว่างกัน ขอให้มาพบกันใหม่ โดยทางซาอุดีอาระเบียยังคงเปิดรับนักธุรกิจไทยอื่นๆ อีกด้วย เพื่อร่วมมือการค้า นวัตกรรม และเทคโนโลยี สู่ความมั่งคั่งร่วมกัน
ด้านนายดอน กล่าวว่า ทางการซาอุฯ ต้อนรับคณะไทยด้วยโปรแกรมพิเศษ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงลงทุนซาอุฯได้จัดให้พบปะกับภาคธุรกิจซาอุฯชั้นนำที่มีความสำคัญระดับประเทศ ทั้งกรุงริยาดและเจดดาห์ เพื่อแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์และแสวงหาโอกาสเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกัน ถือเป็นประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะนำไปประกอบแผนธุรกิจของตนเองได้
“ทริปนี้เสียงตอบรับดีจากทั้งไทย - ซาอุฯ เพราะถ้าทำโดยไม่มีการวางแผนที่ดี แรงกระตุ้นจากภาครัฐ เจ้าหน้าทุกระดับสร้างขวัญกำลังใจส่งแรงผลักดันให้คืบหน้าทำให้ซาอุฯเปิดกว้าง ก็อาจได้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่า” นายดอนกล่าว และเชื่อว่าการดำเนินของไทยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์2030 ของซาอุฯ ที่เน้นเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง และเป้าหมายที่สูงกว่า นี่เป็นสิ่งที่ไทย-ซาอุฯ มองโอกาสร่วมกัน
นายดอน กล่าวอีกว่า ในการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยคิงอับดุลลาซิซ ซาอุดีอาระเบียจะเป็นโอกาสในความร่วมมือทางการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยกับซาอุฯ ขณะที่การลงพื้นที่เยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษคิงอับดุลลาซิซ อีโคโนมิคซิตี้ ที่เมืองนีโอม มีพื้นที่ติดกับทะเลแดง ก็จะเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยได้เห็นช่องทางธุรกิจ
ในภาพรวมถือว่าประสบความเร็ว ซึ่งทำให้ซาอุฯตระหนักรู้ว่าไทยสามารถเป็นมิตรที่ดีกับเค้าได้ ทั้งคู่ค้า หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
สิ่งเหล่านี้ตั้งต้นมาจากการเยือนระดับผู้นำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 ที่นำมาด้วยการร่างโรดแมปความร่วมมือไทย-ซาอุฯ และกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนที่ยั่งยืน มีศักยภาพ ยอมรับกันและกันให้ผ่านพ้นไปจาก 32 ปีที่แล้ว
นายดอน กล่าวด้วยว่า ทางซาอุฯ ทั้งที่กรุงริยาดและเจดดาห์พอใจ ต้องการให้ดำเนินงานเป็นรูปธรรม อย่างเรื่องซื้อปุ๋ยเคมีที่ซาอุฯรับเรื่องไปดำเนินการทันที และย้ำให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะรู้ถึงปัญหาเกษตรกรไทยขาดแคลนปุ๋ยมากมาย ซึ่งไทยเองก็คงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเร่งรีบ บนพื้นฐานความเป็นจริงต่อไป
อย่างไรก็ตาม ซาอุฯยอมรับว่าคณะนักธุรกิจไทยที่เดินทางมารอบนี้ได้สร้างมาตรฐานความร่วมมือไว้สูง และสร้างปรารถนาให้ซาอุฯต้องการมีความสัมพันธ์กับไทยไว้ทุกเรื่อง อะไรก็ตามที่ลดหลั่นไปกว่านี้หรือทำให้มีปัญหาต้องสะดุดหรือตั้งคำถามวิธีการของฝ่ายไทย หลังจากนี้ก็ต้องไม่ให้เกิดขึ้น เราต้องเดินหน้าต่อไปบนมาตรฐานนี้ ถ้าให้ดีต้องให้ทัดเทียมในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นหรือไม่ก็ต้องดีขึ้น เพื่อให้เกิดการยอมรับไทยอย่างมั่นคง
เพราะเมื่อไหร่ก็ตาม ทำอะไรลดลงไปกว่านั้นปัญหาจะตามมา เนื่องจากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเราได้สร้างความชัดเจนว่าไทยจะเดินไปข้างหน้ากับซาอุฯ ที่จะไม่ทดถอย อย่าได้ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์สองประเทศไปในมุมอื่นๆที่ไม่เอื้อต่อประเทศ ภาพพจน์ไทย และประชาชนไทย แต่ต้องรักษามาตรฐานนี้ไปข้างหน้าอย่างภาคภูมิใจ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์