กต. แจงย้ำ "ปฏิญญาซานย่า" ผิดไปกว่านี้ เฟคนิวส์

กต. แจงย้ำ "ปฏิญญาซานย่า" ผิดไปกว่านี้ เฟคนิวส์

"กระทรวงการต่างประเทศ" ออกโรงชี้แจงย้ำปฏิญญาซานย่า ถูกนำไปบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม และความตั้งใจดีที่มีต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ

ขณะนี้ มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามนำเสนอข่าวสารข้อมูลที่บิดเบือน เกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศ เช่น เรื่องกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง นาโต้ 2 และประเด็นอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป

ล่าสุด ปรากฏข้อมูลบิดเบือนทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า ประเทศไทยไม่ลงนามในปฏิญญาซานย่า (Sanya Declaration) ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของไทย นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจึงขอชี้แจง ดังนี้

1. ปฏิญญาซานย่า (Sanya Declaration) เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่ได้รับการรับรองโดย “ฉันทามติร่วมกัน” ของที่ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ครั้งที่ 1 ที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ประเทศจีน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 โดย “ไม่ต้องมีการลงนาม” ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้การรับรองปฏิญญาดังกล่าว

การประชุมดังกล่าวมีไทยกับจีนเป็นประธานร่วม เนื่องจากไทยเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง MLC ตั้งแต่ปี 2555 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ไทยจะไม่เข้าร่วมในปฏิญญาซานย่า ดังที่มีการกล่าว อ้าง

2.เนื้อหาของปฏิญญาซานย่า เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันทางการเมืองก่อตั้ง MLC และเน้นความร่วมมือใน 3 เสา ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และสาขาความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยง (2) ความร่วมมืออุตสาหกรรม (3) ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน (4) การจัดการทรัพยากรน้ำ และ (5) การเกษตร และการลดความยากจน

และต่อมา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ที่ประชุมผู้นำ MLC ครั้งที่ 2 ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา รับรองแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (ค.ศ.2018-2022) ระบุแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบ MLC ทั้ง 3 เสา และสาขาความร่วมมือ 5 สาขา เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งไทยได้ติดตาม และมีส่วนร่วมโดยแข็งขันมาโดยตลอด โดยความร่วมมือไม่ได้มีผลกระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศหนึ่งประเทศใด ตามที่มีความพยายามบิดเบือนให้สาธารณชนเข้าใจผิด

3.จากข้อเท็จจริงข้างต้น ปัจจุบัน MLC มีความร่วมมือที่โดดเด่นในหลายประเด็น ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชน หน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนร่วม และแสดงความเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะได้เป็นอย่างดี เช่น ในการแบ่งปันข้อมูลน้ำในกรอบ MLC Water Center ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) เพื่อหาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเคลื่อนที่ของน้ำในลำน้ำโขง และการศึกษาอุทกศาสตร์ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ในปี 2562 ประเด็นการขุดลอกเกาะแก่งในแม่น้ำโขง และการปรับปรุงร่องน้ำ เป็นข้อเสนอที่ได้รับการผลักดันในกรอบคณะกรรมการประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong River among China, Laos, Myanmar and Thailand: JCCCN) แต่โดยที่ภาคประชาสังคมไทยและประชาชนในพื้นที่จำนวนมากแสดงความไม่เห็นด้วย

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้ยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เนื่องจากข้อห่วงกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต เขตแดน อธิปไตย และวัฒนธรรม และไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องการปรับปรุงร่องน้ำขึ้นผลักดันในกรอบ JCCCN ขึ้นมาอีก

4. ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนนอกอนุภูมิภาคฯ ให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการส่งเสริมความร่วมมือ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคฯ โดยปัจจุบัน มีกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ หลายกรอบ ทั้งกรอบที่จัดตั้งระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงด้วยกันเอง และกับประเทศนอกอนุภูมิภาคฯ เช่น MLC กับจีน Mekong-U.S. Partnership (MUSP) กับสหรัฐ Mekong-ROK กับสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) Mekong-Ganga Cooperation (MGC) กับอินเดีย และ Mekong-Japan Cooperation (MJ) กับญี่ปุ่น

ทั้งหมดล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริม และสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาคฯ ล่าสุดรวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การพัฒนาสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคฯ ในทุกมิติ ความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขง และหุ้นส่วนภายนอกอนุภูมิภาคฯ

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์