ฝ่ากระแสคว่ำบาตร ส่องโอกาสเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย
การประชุมรัฐมนตรีการค้าของ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค 2565 (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022: MRT) ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค.ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
แมกซิม เรเชตนิคอฟ (Maxim Reshetnikov) รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจรัสเซียเข้าร่วมประชุมด้วย พร้อมให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจถึงสถานการณ์คว่ำบาตรที่รัสเซียกำลังเผชิญ และโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับไทย
Q: ผลกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซียและต่อโลก
A: จริงๆ แล้วรัสเซียถูกคว่ำบาตรมาตั้งแต่ปี 2557 ผลก็คือเราสามารถใช้ประโยชน์จากแรงกดดันภายนอกมาเสริมแกร่งให้กับเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมยานยนต์รัสเซียเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการคว่ำบาตรระลอกใหม่เมื่อเร็วๆ นี้เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน ครอบคลุมบุคคลและบริษัทรัสเซียกว่า 1 หมื่นราย กระทบเศรษฐกิจหลายภาคส่วน ยิ่งไปกว่านั้นยังไปไกลกว่ากรอบกฎหมายที่ใช้กันในโลกนี้ ได้แก่ การยึดทองคำ เงินสำรอง ยึดทรัพย์สินบริษัทและพลเมืองรัสเซียในยุโรป
ตอนนี้เราสามารถพูดได้ว่ารัสเซียทนทานต่อแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตร ถึงวันนี้ตลาดการเงินของเรามีเสถียรภาพ รูเบิลแข็งแกร่ง เงินเฟ้อลดลง เริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และหันมาปรับความสำคัญจากที่เคยมุ่งเน้นตลาดและห่วงโซ่คุณค่าตะวันตกก็เปลี่ยนมาเป็นตะวันออก ให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียเป็นหลัก และในสถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด ด้านหนึ่งการคว่ำบาตรเป็นตัวสร้างปัญหา แต่ในเวลาเดียวกันก็เปิดโอกาส ให้ธุรกิจไทยเข้าตลาดรัสเซียเพื่อมาเติมเต็มภาคส่วนที่ยังว่างอยู่ และเปิดโอกาสให้กับธุรกิจรัสเซียที่ตอนนี้แข็งขันมองหาตลาดใหม่ๆ และปรับจุดเน้นผลิตภัณฑ์ของตนทั้งพลังงาน ทรัพยากรพลังงาน น้ำมัน ผลิตภัณฑ์น้ำมัน ก๊าซ ปุ๋ย สินค้าอาหาร สินค้าเครื่องกลและวิศวกรรม พวกเรามาที่นี่เพื่อหารือถึงวิธีการทำกำไรให้ได้มากที่สุดจากโอกาสที่กำลังเปิดอยู่ในตอนนี้
Q: ความร่วมมือรัสเซีย-ไทย ท่ามกลางการคว่ำบาตร มีโอกาสเติบโตหรือไม่
A: มีโอกาสเติบโตแน่นอน โอกาสใหม่ๆ บังเกิดขึ้นแล้วหนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ไทยทรงพลังมากทั้งในแง่การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ มีความเป็นไปได้เรื่องการนำเข้า ผลิตร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดอื่นอีกสองอย่างแต่ยังเร็วเกินไปที่ผมจะพูดในตอนนี้ และเรายังพิจารณาเรื่องอื่นๆ เพิ่ม
Q: ภาคส่วนใดของเศรษฐกิจรัสเซียที่ไทยสามารถเข้าไปลงทุนได้
A: สิ่งแรกที่ผมอยากบอกคือตัวอย่างความสำเร็จของการลงทุนไทยในเศรษฐกิจรัสเซีย นั่นคือบริษัทซีพีฟู้ดส์ ที่ลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในภาคเกษตรรัสเซีย และกำลังพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้เล่นโดดเด่นในตลาดรัสเซีย การลงทุนอื่นที่มีความเป็นไปได้คือพลังงานและทรัพยากรพลังงาน
สิ่งที่เรากังวลด้วยในตอนนี้คือเรากำลังเผชิญการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อพิจารณาว่าไทยมีอุตสาหกรรมการผลิตอะไหล่รถยนต์ที่เข้มแข็ง นี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งสาขามีอนาคต
เศรษฐกิจของทั้งรัสเซียและไทยหลากหลายมาก และเติมเต็มกันและกันได้เป็นอย่างดี สาขาหนึ่งที่รัฐบาลไทยสนใจคือสารอนินทรีย์ที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งรัสเซียก็สนใจเรื่องนี้เหมือนกันเพราะเราพึ่งพาผู้ส่งออกปุ๋ยเหล่านี้มาก พูดตรงๆ เรายังมีโอกาสอีกมากมาย
Q: บทบาทของรัสเซียท่ามกลางวิกฤติอาหารและเงินเฟ้ออาหารที่เกิดขึ้นในขณะนี้
A: วิกฤติอาหารและเงินเฟ้ออาหารขณะนี้มีเงื่อนไขสั่งสมมาก่อน รากเหง้าจากนโยบายการเงินผ่อนคลายที่ธนาคารกลางตะวันตกใช้มานานหลายสิบทศวรรษ ผสมผสานกับนโยบายต่อต้านสินค้าโภคภัณฑ์ การขาดดุลงบประมาณมหาศาล ตอนนี้ยังมีการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเข้าไปอีก คุกคามตลาดปุ๋ย ผลิตผลต่อไร่ในอนาคต โลจิสติกส์แย่ลง เป็นเหตุให้ราคาอาหารพุ่งขึ้นและอื่นๆ
ชัดเจนว่าประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากประชาชนใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารมากกว่าสินค้าประเภทอื่น เราใช้เวทีเอเปคแสดงความเห็นและสร้างหลักประกันกับนานาประเทศว่า รัสเซียเป็นและจะเป็นซัพพลายเออร์อาหาร ปุ๋ย และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่เชื่อถือได้อย่างที่เคยเป็นเสมอมา
สำหรับเราสิ่งที่ฝ่ายไทยทำเป็นงานที่มีคุณค่ามาก เราใช้โอกาสที่ไทยเชิญมาร่วมประชุมเอเปค หารือทวิภาคีกันในหลายประเด็น หลักๆ คือโอกาสทางการค้าที่ขณะนี้มีมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ และมีโอกาสทำได้ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ที่เคยกำหนดไว้ก่อนหน้านี้
ผมได้หารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างไร และได้หารือถึงสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกันซึ่งชาวรัสเซียอยากรู้เรื่องนี้มาก
Q: เมื่อเร็วๆ นี้รัสเซียตั้งใจเพิ่มการจัดหาข้าวสาลีให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเด็นนี้ได้นำมาหารือกับไทยหรือไม่ อุปทานข้าวสาลีโดยทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มสดใสเพียงใด ประเทศไหนสนใจมากที่สุด
A: เราได้หารือในประเด็นนี้โดยให้ความสำคัญกับบริบทของการเพิ่มการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน เราไม่ใช่แค่จัดหาข้าวสาลีให้ไทยเท่านั้น แต่ไทยยังสามารถจัดหาผลไม้ ข้าว และสินค้าอื่นๆ ให้เราได้ด้วย
นี่คือความสำคัญของทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาการค้าและเพิ่มการลงทุน ตัวอย่างเช่น การลงทุนของซีพีฟู้ดส์เป็นเรื่องดี เพราะบริษัทมีความมุ่งมั่นเข้าไปลงทุนด้านถั่วเหลือง ใช้แผ่นดินของเรา โอกาสของเรา สร้างงานให้เรา ได้ผลผลิตสุดท้ายเป็นถั่วเหลืองหรือถั่วเหลืองแปรรูป ได้ส่งออกไปยังตลาดจีนและเอเชีย
ส่วนในเรื่องข้าวสาลีอยู่ระหว่างการเจรจา แต่เท่าที่เราเข้าใจในตอนนี้การแก้ปัญหาปุ๋ยก็สำคัญมากด้วย
นี่คือสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างหลักประกันการเก็บเกี่ยวในอนาคตซึ่งสำคัญมาก ผมอยากย้ำอีกครั้งว่า มีเพียงการค้าที่ปราศจากอุปสรรคเท่านั้นที่ป้องกันวิกฤติอาหารและเงินเฟ้ออาหารได้ ถ้าการค้าขายเป็นปกติหมายความว่า ทุกอย่างจะได้ผล การลงทุนจะเลื่อนไหล ปริมาณการผลิตจะเพิ่ม เงินเฟ้อในระยะยาวจะถูกกำราบลงได้ก็ด้วยซัพพลายเท่านั้น
Q: ความเป็นไปได้ในการขนส่งสินค้าจากไทยไปรัสเซียผ่านรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน
A: ตอนนี้ผมยังไม่พร้อมให้ความเห็นถึงเส้นทางแต่ละเส้น เมื่อเร็วๆ นี้เราเพิ่งเปิดรถไฟข้ามแดนระหว่างรัสเซีย-จีนสองสาย แต่เข้าใจว่าด้วยข้อจำกัดป้องกันโควิดอันเข้มงวดของจีน การแลกเปลี่ยนจึงไม่เข้มข้นเท่าที่ควร
แต่ในระยะยาว นี่ไม่อาจขัดขวางความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมทั้งในแง่รถไฟข้ามประเทศและท่าเรือ ตอนนี้รัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ