นายกฯจีนส่งสัญญาณอาจพลาดเป้าจีดีพีปีนี้จากโควิด-19
ผู้นำจีนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จีนลดอัตราการว่างงานลง และทำให้เศรษฐกิจเติบโตในกรอบที่เหมาะสมในไตรมาส 2 ของปีนี้
“หลี่ เค่อเฉียง” นายกรัฐมนตรีจีนส่งสัญญาณว่า ในปีนี้จีนอาจพลาดเป้าในการกระตุ้นให้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ขยายตัวที่อัตรา 5.5% เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด19 ที่ฉุดเศรษฐกิจ และล่าสุดที่กรุงปักกิ่ง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เมืองหลวงของจีนเผชิญการแพร่ระบาดเป็นเวลานานนับเดือน
นายกรัฐมนตรีหลี่ กล่าวในการประชุมฉุกเฉินวานนี้ (26พ.ค.)ว่า เศรษฐกิจของจีนในบางด้านอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่กว่าปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเพิ่มความพยายามในการลดอัตราการว่างงานที่พุ่งขึ้นในขณะนี้
“สัญญาณบ่งชี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งความยากลำบากในบางด้านนั้นรุนแรงกว่าที่เราเคยเผชิญในปี 2563” หลี่ กล่าวในการประชุมฉุกเฉินร่วมกับตัวแทนของรัฐบาลท้องถิ่น, รัฐวิสาหกิจ และบริษัทด้านการเงิน โดยในปี 2563 นั้น เศรษฐกิจจีนขยายตัวแค่ 2.2%
นอกจากนี้ หลี่ ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จีนพยายามลดอัตราการว่างงานลง และทำให้เศรษฐกิจเติบโตในกรอบที่เหมาะสมในไตรมาส 2 ของปีนี้ หลังจากอัตราว่างงานในเดือนเม.ย.ของจีนพุ่งขึ้นแตะ 6.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. ปี 2563 ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.หดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563
ถ้อยแถลงของหลี่ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นจีนปรับตัวร่วงลงในช่วงเช้าของวานนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุ 10 ดิ่งลงสู่ระดับ 2.75% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า คำเตือนดังกล่าวสะท้อนถึงท่าทีของจีนที่ยอมรับว่า รัฐบาลอาจจะพลาดเป้าหมายการผลักดันจีดีพีให้ขยายตัวตามเป้า
ขณะที่ความเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ ในรายงานสำรวจความเห็นจัดทำโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก คาดการณ์ว่า จีดีพีปี 2565 ของจีนจะขยายตัวเพียง 4.5% ต่ำกว่าเป้ของรัฐบาลจีนที่ระดับ 5.5%
ส่วนที่กรุงปักกิ่งพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เมืองหลวงของจีนแห่งนี้เผชิญกับการแพร่ระบาดเป็นเวลานานนับเดือน โดยขณะนี้ การใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดในกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีน
แต่ถึงแม้จีนจะเผชิญปัจจัยลบมากมายที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจแต่ผลสำรวจความคิดเห็นจัดทำโดยรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีการเผยแพร่เมื่อวันพุธ (25 พ.ค.) ระบุว่า ประชาชนเกือบครึ่งที่ถูกสุ่มสำรวจความคิดเห็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลือกจีนเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่สุดของภูมิภาคในอนาคต นับเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกจีนมากกว่าญี่ปุ่น
ผลสำรวจบ่งชี้ว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 48% จากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ชาตินั้นเลือกจีนเป็นหุ้นส่วนสำคัญของภูมิภาค ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากผลสำรวจครั้งก่อนในปี 2562 ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 43% เลือกญี่ปุ่น ซึ่งลดลง 8% จากผลสำรวจครั้งก่อน และผู้ตอบแบบสำรวจ 41% เลือกสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 4%
ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่จีนคว้าอันดับหนึ่ง นับตั้งแต่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเริ่มทำการสำรวจในรูปแบบปัจจุบันในปี 2558
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ผลสำรวจดังกล่าวอาจสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของจีน และการขยายอิทธิพลในอาเซียนผ่าน “การทูตวัคซีน” ซึ่งเป็นการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไปยังประเทศกำลังพัฒนา
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า บริษัทอิปซอสส์ บริษัทวิจัยด้านการตลาดในฮ่องกงที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้จัดทำการสำรวจนี้ทางออนไลน์และสำรวจโดยตรงกับบุคคลต่าง ๆ ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ครอบคลุมผู้ตอบแบบสำรวจ 2,700 คนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดยกเว้นเมียนมา ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งภายในประเทศ โดยผู้ตอบแบบสำรวจมีอายุระหว่าง 18 ถึง 59 ปี
จีนได้จัดการประชุมใหญ่เพื่อหารือปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยความหวังว่าจะเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ
ส่วนที่งานประชุม World Economic Forum (ดับเบิลยูอีเอฟ)บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการค้าโลกได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานะของจีนบนเวทีเศรษฐกิจโลก โดยระบุว่า การที่จีนเดินหน้าใช้นโยบายที่เปิดกว้าง และดำเนินการปรับบริบทแวดล้อมเพื่อดึงบริษัทต่างชาติเข้ามาในจีน บวกกับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีนที่มีอยู่แล้ว ทำให้จีนยังคงเป็นประเทศที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุน
"บอร์เก เบรนเด" ประธานการประชุมดับเบิลยูอีเอฟ แสดงความมั่นใจต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ โดยระบุว่า แม้จีนจะส่งสัญญาณชะลอตัวเพราะการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 บวกกับปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทุบสถิติสูงสุดในประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ของโลก แต่จีนก็มีความสามารถที่แข็งแกร่งพอที่จะก้าวข้ามวิกฤตเหล่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เบรนเด คาดหวังมากกว่าอะไรทั้งหมดคือการที่ 2-3 ปีนับจากนี้ จีนและสหรัฐ จะสามารถหาทางเจรจาเพื่อลดหรือยุติมาตรการทางภาษีที่นำมาโต้ตอบทางการค้าระหว่างสองชาติ เพราะการลดกำแพงภาษีหรือยกเลิกมาตรการดังกล่าวระหว่างจีนกับสหรัฐจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
ด้าน “เดวิด รูเบนสไตน์” มหาเศรษฐีนักลงทุน และผู้ร่วมก่อตั้ง Carlyle Group กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาวค่อนข้างเป็นไปในทางที่สดใส
ขณะที่ “มาร์กอส ทรอยโจ” ประธานนิว ดิวิลอปเมนท์ แบงก์ กล่าวว่า จีนเปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนและสร้างโอกาสให้กับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา พร้อมคาดการณ์ว่าจีดีพีของจีนในปีนี้จะขยายตัวที่ 5% และจีนจะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลกสำหรับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (เอฟดีเอ)