โอเปกพลัสจ่อถอนรัสเซียจากข้อตกลงการผลิต หลังถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า สมาชิกบางรายของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในข้อตกลงการผลิตของโอเปกพลัส
การยกเว้นรัสเซียจากข้อตกลงการผลิตของโอเปกพลัสจะเปิดทางให้ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งสมาชิกรายอื่น ๆ ของโอเปกพลัส เพิ่มการผลิตน้ำมันได้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิตของโอเปกพลัสและเพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่หายไปของรัสเซีย
ที่ผ่านมา โอเปกพลัสยังคงยึดมั่นในข้อตกลงเดิม ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 432,000 บาร์เรล/วัน แม้ว่าสหรัฐและหลายประเทศที่นำเข้าน้ำมันต่างเรียกร้องให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตให้มากขึ้นกว่าในระดับปัจจุบัน เพื่อสกัดราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ.
ปีที่แล้ว รัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งใน 1 ใน 3 ของประเทศที่ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ตกลงเห็นชอบร่วมกับกลุ่มโอเปกและประเทศนอกกลุ่มโอเปกเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน แต่คาดว่าการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในปีนี้จะลดลงราว 8%
ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า รัสเซียจะเห็นพ้องกับกลุ่มโอเปกพลัสหรือไม่ในเรื่องการยกเว้นรัสเซียจากข้อตกลงการผลิตของโอเปกพลัส
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 พ.ค.) ผู้นำกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) มีมติระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 โดยมีเป้าหมายเพื่อตัดแหล่งการเงินขนาดใหญ่ที่รัสเซียใช้เป็นทุนในการทำสงคราม
เงื่อนไขภายใต้มติดังกล่าวระบุว่า รัสเซียยังสามารถขนส่งน้ำมันผ่านทางท่อส่ง Druzhba ให้กับฮังการี, สาธารณรัฐเชก และสโลวาเกีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้รับการยกเว้นจากมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียในครั้งนี้
การเจรจาเกี่ยวกับการระงับนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียนั้นได้ใช้เวลานานเกือบ 1 เดือน เนื่องจากสมาชิกบางประเทศของอียูซึ่งรวมถึงฮังการีพยายามชะลอการออกมาตรการดังกล่าว
โดยให้เหตุผลว่า การระงับนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากฮังการีไม่สามารถหาน้ำมันจากที่อื่นได้โดยง่าย ขณะที่สโลวาเกียและสาธารณรัฐเชกก็แสดงความกังวลต่อเรื่องนี้เช่นเดียวกัน