โอไฮโอเตรียมออกกม.ให้'ครู-จนท.'พกปืนในร.ร.หลังเกิดเหตุกราดยิง
รัฐโอไฮโอของสหรัฐเตรียมออกกฎหมายอนุญาตให้ครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนพกปืนได้ เพียงแค่ได้รับการอบรมเบื้องต้นในการใช้ปืน 24 ชั่วโมง หวังป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหตุกราดยิง
บรรดาผู้สนับสนุนให้มีการเสนอกฎหมายนี้ หวังว่า ครูที่พกอาวุธปืนจะช่วยลดความถี่และความสูญเสียในการเกิดเหตุกราดยิงได้ เนื่องเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนสามารถใช้อาวุธและเผชิญหน้ากับมือปืนก่อนที่ตำรวจจะมาถึง ส่วนผู้ที่คัดค้านกฎหมายนี้ เช่น สหภาพแรงงานครูและสหภาพแรงงานตำรวจของรัฐ มีความเห็นว่า การที่ครูพกปืนจะทำให้โรงเรียนเป็นอันตรายต่อเด็กมากกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม นายไมค์ ดีไวน์ นายกเทศมนตรีรัฐโอไฮโอ จากพรรครีพับลิกัน บอกว่าเขาจะลงนามอนุมัติใช้เป็นกฎหมาย
ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ครูที่จะพกพาอาวุธในโรงเรียนได้ นอกจากจะต้องผ่านการอบรมในเบื้องต้นแล้ว ยังต้องถูกตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและต้องรับการอบรมเพิ่มเติม 8 ชั่วโมงต่อปีในแต่ละปี และภายใต้กฎหมายใหม่ แต่ละเขตการศึกษาต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ หากให้ครูที่พกพาอาวุธเข้าไปในบริเวณโรงเรียน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีโรงเรียนกี่แห่งที่จะอนุญาตให้ครูพกพาอาวุธได้
เหตุกราดยิงในโรงเรียนเมื่อ 10 วันก่อน ยังส่งผลให้บรรดาผู้ปกครองของเหยื่อรวมถึงเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนตัดสินใจฟ้องบริษัทเดเนียล ดีเฟนซ์ บริษัทผลิตปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติที่ผู้ก่อเหตุใช้ในการก่อเหตุ
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ เรียกร้องให้มีการออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อจำกัดการจำหน่ายอาวุธปืน หลังเกิดเหตุยิงกราดที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในรัฐเท็กซัส ซึ่งส่งผลให้มีนักเรียนอย่างน้อย 18 คนเสียชีวิต
ผู้นำสหรัฐ กล่าวด้วยว่า “นี่คือเวลาที่เราต้องเปลี่ยนความเจ็บปวดให้กลายมาเป็นการลงมือทำได้แล้ว”
เหตุยิงกราดครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ หลังเกิดการยิงกราดที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บ 3 คน โดยเชื่อว่า มีแรงจูงใจจากแนวคิดสุดโต่งรุนแรงด้านเชื้อชาติและสีผิว
แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า เหตุสลดล่าสุดนี้จะส่งผลอย่างไรต่อทิศทางของนโยบายการเมืองที่เกี่ยวของกับการควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐ หลังเกิดเหตุการยิงกราดหลายต่อหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึง เหตุยิงกราดโรงเรียนประถมศึกษาแซนดี้ ฮู้กในรัฐคอนเนตติคัต เมื่อเดือนธ.ค.ปี2555 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน รวมถึงเด็กอายุ 5-10 ปี ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ไปในทางที่ดีขึ้น