BIMSTEC แหล่งผลิต-ส่งออกอาหาร คลายวิกฤติซัพพลายเชน

BIMSTEC แหล่งผลิต-ส่งออกอาหาร คลายวิกฤติซัพพลายเชน

กลุ่มความรุ่วมมือบิมสเทคดำเนินมาสู่ปีที่ 25 เน้นสร้างการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบด้วย 7 ประเทศสมาชิก คือบังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย เมียนมา เนปาล ภูฏาน แต่ตอนนี้จำเป็นต้องเพิ่มแรงขับเคลื่อน ท่ามกลางความท้าท้ายจากสถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤติซัพพลายเชนโลก

ความริเริ่มสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจแห่งอ่าวเบงกอล หรือบิมสเทค ดำเนินมาสู่ปีที่ 25 โดยเน้นสร้างการเติบโตในภูมิภาคอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบด้วย 7 ประเทศสมาชิก คือบังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย เมียนมา เนปาล และภูฏาน แต่ตอนนี้จำเป็นต้องเพิ่มแรงขับเคลื่อน ท่ามกลางความท้าท้ายจากสถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤติซัพพลายเชนโลก

 ปีนี้ ไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพบิมสเทคชูบทบาทและวิสัยทัศน์ “Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC” หรือ PRO BIMSTEC เพื่อขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือในฐานะประธานบิมสเทควาระ ปี 2565 - 2566 มุ่งให้บิมสเทคมีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้างสู่โอกาส พร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

BIMSTEC แหล่งผลิต-ส่งออกอาหาร คลายวิกฤติซัพพลายเชน

ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า วิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารในหลายประเทศทั่วโลกจะเป็นโอกาสให้บิมสเทค ในฐานะไทยเป็นประเทศเจ้าภาพบิมสเทคปีนี้ได้มองหาแนวทางช่วยกระจายสินค้าเกษตรกรรมและอาหารในกลุ่มประเทศสมาชิกบิมสเทค ซึ่งเปรียบได้กับอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญให้เข้ามาเป็นผู้ผลิตและส่งออก ไม่ใช่เป็นตลาดอย่างเดียว เช่น เมียนมา มีความโดดเด่นด้านเกษตรกรรมและพลังงาน 

อินเดียก็เป็นทั้งตลาดบริโภคขนาดใหญ่และมีความชำนาญด้านโลจิสติกส์ ขณะที่สมาชิกแต่ละประเทศมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันแต่สามารถเกื้อหนุนกลุ่มความร่วมมือให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นได้

“ประเทศไทยจะเป็นหัวหอกความร่วมมือเพื่อช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์อาหาร และผลักดันให้กฎบัตรบิมสเทคเห็นผลเป็นรูปธรรมในช่วงเวลาสองปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ”รองนายกฯดอน กล่าว และระบุว่า บิมสเทคเป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวที่พัฒนาเป็นกลไกระดับภูมิภาคที่มีชีวิตชีวา เน้นส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิก มุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิต เชื่อมโยงภูมิภาค เพิ่มการเดินทางไปมาหาสู่ระดับประชาชน ส่งเสริมการค้าและอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจ 

 

BIMSTEC แหล่งผลิต-ส่งออกอาหาร คลายวิกฤติซัพพลายเชน
 

ดอน กล่าวด้วยว่า ความร่วมมือบิมสเทคได้มีการพูดถึงการเดินเรือตามแนวชายฝั่ง (Coastal Shipping) กันมากขึ้น เพราะประเทศส่วนใหญ่มีน่านน้ำติดทะเลและ อ่าวเบงกอลจะเป็นพื้นที่ให้เราได้ใช้ประโยชน์ ทั้งการแลกเปลี่ยนประชาชน สินค้า ผลผลิต ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนวิทยาการความรู้ระหว่างกัน นำไปสู่การเติบโตและเป็นกลุ่มภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

ด้าน“สุจิตรา ทุไร” เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีประกาศมอบเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับกอนทุนเพื่อการพัฒนาบิมสเทค เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศสมาชิก ที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโรคระบาดใหญ่ เราต้องเร่งความพยายามในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจภายในบิมสเทค สร้างการพัฒนาเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาค เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกระทบจากภายนอกและทำให้ภูมิภาคของเรามีความยืดหยุ่นมากขึ้น" 

“อินเดียหวังจะได้เห็นข้อสรุป BIMSTEC FTA อย่างรวดเร็ว เพราะเราต้องทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าไปพร้อมๆ การมีส่วนร่วมในโครงการเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ICRIER) ของสภาอินเดีย กับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียในเรื่องนี้ นอกจากนี้ เรายังตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับบังกลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำของเสาหลักทางการค้าเพื่อผลักดันแนวคิดนี้ไปข้างหน้า”เอกอัครราชทูตอินเดีย กล่าว

ส่วน“เท็นซิน เล็กเพลล์” เลขาธิการบิมสเทค กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บิมสเทคได้เอาชนะความท้าทายมากมายและผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาได้ พร้อมทั้งจัดตั้ง "กฎบัตรบิมสเทค" ซึ่งได้ลงนามไปในการประชุมสุดยอดครั้งที่ 5 ที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา 

 โดยจัดหมวดหมู่ความร่วมมือจาก 14 สาขาเป็น 7 เสาให้ประเทศสมาชิกเป็นประเทศนำ (Lead Country) ในแต่ละเสาได้แก่ เสาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (เมียนมา) เสาความเชื่อมโยง (ไทย) เสาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (ภูฏาน) เสาการค้า การลงทุนและการพัฒนา (บังกลาเทศ) เสาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ศรีลังกา) เสาความมั่นคง (อินเดีย) และเสาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน (เนปาล)

 

BIMSTEC แหล่งผลิต-ส่งออกอาหาร คลายวิกฤติซัพพลายเชน

 ถือเป็นการวางรากฐานและผลักดันความร่วมมือให้บรรลุแผนแม่บทสำหรับการเชื่อมต่อคมนาคมที่ช่วยให้มั่นใจถึงความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งระหว่างประเทศสมาชิก และสิ่งนี้จะสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิก ในการขับเคลื่อนบิมสเทคไปสู่ภูมิภาคแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ การเติบโตและความยั่งยืน 

ในโอกาสนี้ รองนายกฯดอนได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการครบรอบ 25 ปี ก่อตั้งความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ที่เจริญนครฮอลล์ ไอคอนสยาม โดยมีเลขาธิการบิมสเทค เอกอัครราชทูตและผู้แทนประเทศบิมสเทค ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เข้าร่วม

นิทรรศการดังกล่าวมีกำหนดจัดแสดงตั้งแต่วันนี้(15มิ.ย.)ไปจนถึงวันอาทิตย์(19  มิ.ย.) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบิมสเทค โดยนำเสนอประวัติความเป็นมา และความสำเร็จตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

กระทรวงการต่างประเทศยังเปิดตัว BIMSTEC Knowledge Platform หรือ BKP แพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ และเฟซบุ๊คที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบิมสเทค รวมทั้งความเคลื่อนไหวของบิมสเทคในช่วงการการทำหน้าที่เป็นประธานของไทยด้วย