"เฟด" ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดในรอบ 28 ปี สกัดเงินเฟ้อพุ่ง!
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% นับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หวังสกัดเงินเฟ้อพุ่งแรงในประเทศ
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.5%-1.75% ในการประชุมเมื่อวันพุธ (15 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดของเฟดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537 โดยมุ่งเป้าไปที่การต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในประเทศ
แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า เอฟโอเอ็มซียังคงยืนยันหนักแน่นที่จะดึงตัวเลขเงินเฟ้อแตะเป้าหมาย 2% ให้ได้ และคาดว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดมีขึ้นหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%
ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่ง 8.6% ในเดือนที่แล้ว ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2524
ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา เฟดได้ทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ซึ่งงบดุลดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) โดยขณะนี้มีมูลค่ารวม 8.9 ล้านล้านดอลลาร์
ในมาตรการ QT ดังกล่าว เฟดได้ลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม
หลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม